ตุ๊กตานำโชคญี่ปุ่น

5 ตุ๊กตานำโชคญี่ปุ่น เสริมสิริมงคลรับปี 2564

พร้อมมากกับโควิด ห้ามป่วย ห้ามลา ห้ามตาย และก็ห้ามเที่ยว ด้วยโว้ย จะไม่ให้หงุดหงิดคงเป็นไปได้ยาก เพราะขณะที่แอดมิน Ruay 365 ต้องเขียนบทความเรื่อง “ตุ๊กตานำโชคญี่ปุ่น” อยู่นี้ดันตรงกับช่วงที่ประเทศไทยของเรานั้นตกอยู่ในสถานการณ์การระบาดโควิดระลอกใหม่ จนทำให้หลาย ๆ คนต้องพับแผน ยกเลิกแพลน เที่ยวญี่ปุ่นไปอย่างไม่มีกำหนดการ และเนื่องด้วยผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แต่ละประเทศประกาศห้ามหรือจำกัดการบินและการเข้าออกประเทศ รวมถึงประเทศไทยและญี่ปุ่นด้วย

แต่ไม่เป็นไรเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและคนที่เรารัก ก็จำเป็นที่จะต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติกันไปก่อน และเพื่อเป็นการคลายความคิดถึงสำหรับเจแปนเลิฟเวอร์อย่างเรา ๆ มาดู “5 ตุ๊กตานำโชคญี่ปุ่น” เผื่อไว้สำหรับครั้งหน้าที่มีโอกาสไปเที่ยวจะได้ลองนำติดไม้ติดมือกลับมานำโชคให้ชีวิตบ้าง ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลย

5 ตุ๊กตานำโชคญี่ปุ่น ที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่ามีไว้เพื่อความโชคดี

จะว่าไปแล้วประเทศญี่ปุ่นนั้นมีเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและโชคลางอยู่มากมายเหมือนกัน บางเรื่องก็เชื่อและทำตามกันมาอย่างแพร่หลาย ส่วนบางเรื่องก็เชื่อกันแค่ในวงแคบ ๆ ตามต่างจังหวัด หรือตามย่านนั้น วันนี้ Ruay เลยหยิบเอาความเชื่อของคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับ ตุ๊กตานำโชค มาเล่าให้ฟังกัน

ตุ๊กตาแมวกวัก หรือ มาเนกิ เนโกะ (Maneki-neko)

ตุ๊กตาแมวกวัก มาเนกิ เนโกะ

แมวกวักญี่ปุ่น หรือ มาเนกิ เนโกะ คือ ตุ๊กตานำโชคญี่ปุ่น ที่เป็นตัวแทนของความเชื่อเรื่องโชคลาภของคนญี่ปุ่น คล้ายกับการบูชานางกวักของคนไทย ที่นิยมนำมาตั้งหน้าร้านเพื่อเสริมโชคลาภทางการค้า มีลักษณะเป็นรูปปั้นแมวขนาดต่าง ๆ อยู่ในท่านั่ง มีปลอกคอพร้อมกระดิ่งห้อยที่คอ ชูขาหน้าในลักษณะกวักขาข้างใดข้างหนึ่งหรือบางตัวก็กวักทั้ง 2 ข้าง นอกจากนั้นก็จะมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของแมวกวักตัวนั้น ๆ ซึ่งลักษณะและเครื่องประดับของแมวกวักจะมีความเชื่อแตกต่างกันไป ดังนี้

การยกขาหน้า

  • ยกขาขวา เชื่อว่า เป็นการกวักเรียกเงินทองและโชคลาภ
  • ยกขาซ้าย เชื่อว่า เป็นการเรียกผู้คนหรือลูกค้าให้เข้าร้าน
  • ยกขาทั้ง 2 ข้าง เชื่อว่า เป็นการเรียกลูกค้าพร้อมเงินทองหรือโชคลาภครั้งใหญ่

แต่ส่วนใหญ่จะนิยมแมวกวักที่ยกขาข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า หรือสำหรับคนที่อยากได้แมวกวักที่ยกขาทั้ง 2 ข้าง ก็สามารถเปลี่ยนเป็นแมวกวักที่ยกขาซ้าย 1 ตัวและยกแขนขวา 1 ตัววางคู่กันแทนได้

สีของแมวกวัก

  • 3 สี ลำตัวเป็นสีขาว มีลายสีดำและสีส้ม ซึ่งมีลักษณะเหมือนแมวพื้นบ้านของประเทศญี่ปุ่น (สายพันธุ์ Japanese Bobtail) เชื่อว่า จะนำความโชคดีมาให้มากมาย
  • สีขาว เชื่อว่า เป็นสีของความบริสุทธิ์ ป้องกันไสยศาสตร์ ภัยมืดต่าง ๆ
  • สีดำ เชื่อว่า จะป้องกันอันตรายต่าง ๆ จากผู้ไม่หวังดี หรือเป็นการแก้เคล็ดเสริมดวงชะตา
  • สีแดง เชื่อว่า จะคุ้มครองและไล่ภูตผีวิญญาณ ปกป้องจากสิ่งอัปมงคล เหมาะกับเด็กแรกเกิด
  • สีทอง เชื่อว่า ทำให้คำอธิษฐานเป็นจริง ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ
  • สีเงิน เชื่อว่า ทำให้สุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว เหมาะกับผู้สูงอายุ
  • สีชมพู เชื่อว่า ทำให้สมหวังเรื่องความรัก
  • สีม่วง เชื่อว่า ทำให้คิดและสร้างสรรค์ผลงานได้ดีเยี่ยม มีพลังแห่งศิลปะ
  • สีเขียว เชื่อว่า ทำให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ
  • สีฟ้า เชื่อว่า ทำให้การเรียนและการสอบผ่านไปได้ด้วยดี
  • สีเหลือง เชื่อว่า ทำให้มิตรภาพยืนยาว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคู่รัก

เครื่องประดับของแมวกวัก

  • สวมปลอกคอกระดิ่ง เชื่อว่า โชคดีที่กวักเข้ามาจะไม่หนีไปไหน
  • สวมผ้าพันคอ เชื่อว่า จะปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ
  • ถือเหรียญทอง เชื่อว่า จะร่ำรวยและโชคดีมาก และบนเหรียญทองมักจะมีอักษรคันจิเขียนอยู่ ซึ่งจะให้ความหมายเกี่ยวกับความโชคดีในเรื่องต่าง ๆ
  • ถือปลา เชื่อว่า อาหารการกินจะอุดมสมบูรณ์
  • ถือดารุมะ (ตุ๊กตาล้มลุกญี่ปุ่น) เชื่อว่า ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จไม่ล้มเหลว
  • ถือค้อน เชื่อว่า จะนำความมั่งคั่งมาให้
  • ถือพัด เชื่อว่า จะพัดสิ่งชั่วร้ายออกไป พัดสิ่งดีเข้ามา
  • ถือกลอง เชื่อว่า จะเคาะเรียกลูกค้าเงินทองเข้าร้านค้า
  • ถือถุง เชื่อว่า จะร่ำรวยเงินทอง มีสมบัติมากมาย
  • ถือน้ำเต้า เชื่อว่า จะอายุยืน

อย่างไรก็ตามปัจจุบันตุ๊กตาแมวกวักถูกผลิตออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย และมีสี หรือ เครื่องประดับอีกมากมาย ซึ่งก็จะเปลี่ยนไปตามความนิยมตามยุคสมัยนั่นเอง

ตุ๊กตาดะรุมะ (Daruma doll)

ตุ๊กตาดะรุมะ

ตุ๊กตาดารุมะ คือ ตุ๊กตานำโชคญี่ปุ่น ที่เป็นเครื่องราง โดยชาวญี่ปุ่นมักนำมาประดับไว้เพื่อความเป็นมงคลในช่วงปีใหม่ อีกทั้งยังเป็นตุ๊กตาที่มีไว้เพื่อขอพรให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนาได้อีกด้วย ดารุมะมีลักษณะคล้ายตุ๊กตาล้มลุก อ้วนกลม ไม่มีแขน เป็นสัญลักษณ์ว่าถึงจะล้มสักกี่ครั้งก็ต้องลุกขึ้นสู้ และมีใบหน้าที่มีต้นแบบมาจากพระโพธิธรรม แต่ไม่มีลูกตาสีดำ ตุ๊กตาดารุมะที่เราพบเห็นกันส่วนใหญ่มักเป็นสีแดง แต่ในปัจจุบันมีหลากสีหลายประเภทที่ซ่อนความหมายแตกต่างกันออกไป ดังนี้

ความหมายของสีตุ๊กตาดารุมะ

  • สีดำ สำหรับขอพรเรื่องธุรกิจ-ค้าขาย เจริญรุ่งเรือง
  • สีทอง สำหรับขอพรเรื่องโชคลาภเงินทอง
  • สีเหลือง สำหรับขอพรเรื่องโชคลาภเงินทอง เช่นเดียวกับสีทอง
  • สีขาว สำหรับขอพรเรื่องการสอบ บางครั้งก็มักนำมาตั้งคู่กับตุ๊กตาดารุมะสีแดง มีความหมายว่า “โคฮาคุ” (สีแดงและสีขาว) ซึ่งเป็นสีมงคลสำหรับชาวญี่ปุ่น
  • สีเขียว สำหรับขอพรเรื่องด้านสุขภาพ
  • สีม่วง สำหรับขอพรให้อายุยืน
  • สีส้ม สำหรับขอพรให้มีลูก
  • สีชมพู สำหรับขอพรให้รักสมหวัง

นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังมีความเชื่อกันว่า ตุ๊กตาดารุมะมีไว้เพื่อขอพรให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนาได้ โดยวิธีการขอพรกับตุ๊กตาดารุมะ คือ ชาวญี่ปุ่นจะวาดลูกตาดำที่ฝั่งขวามือของเราเมื่อหันหน้าเข้าหาตุ๊กตา (ตาฝั่งซ้ายของตุ๊กตา) เป็นอันดับแรก เรียกขั้นตอนนี้ว่า “ไคเก็น สุรุ” หมายถึง การเปิดตาเพื่อให้เห็นถึงแก่นแท้ของสัจธรรม โดยมักจะเริ่มต้นวาดลูกตาดำในวันศุภฤกษ์หรือวันมงคลฤกษ์ตามปฏิทินญี่ปุ่น เมื่อคำขอพรสมหวังตามปรารถนาแล้ว ก็จะวาดลูกตาสีดำที่ฝั่งซ้ายมือของเราเมื่อหันหน้าเข้าหาตุ๊กตา (ตาฝั่งขวาของตุ๊กตา)

ที่สำคัญในการขอพรกับตุ๊กตาดารุมะที่ไม่ควรลืมเลยก็ คือ เมื่อคำขอพรสมหวังตามปรารถนาแล้ว จะต้องกลับมาวาดดวงตาอีกข้างให้เสร็จสมบูรณ์ และนำไปเผาเพื่อแสดงความขอบคุณที่ตุ๊กตาดารุมะทำให้เราสมหวังดั่งปรารถนาด้วย

ตุ๊กตาไล่ฝน หรือ เทะรุเทะรุโบซุ (Teru teru bouzu)

ตุ๊กตาไล่ฝน

คนไทยอาจจะเคยเห็น ตุ๊กตาไล่ฝน อยู่บ้างจากในการ์ตูนอิคคิวซัง ที่มีลักษณะเป็นตุ๊กตาผ้าสีขาว หัวกลมและมีการเขียนหน้าตา โดยเจ้าตุ๊กตาไล่ฝน หรือ เทะรุเทะรุโบซุ มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “teru teru bozu” ที่แปลได้ว่า พระหัวล้านจนเปล่งประกายต่อแสงแดด 

เป็นสัญลักษณ์ของวันที่อากาศดีและมีแสงแดด ที่ส่องลงมาโดนหัวพระราวกับว่าเป็นพระอาทิตย์อีกหนึ่งดวงนั่นเอง จึงเป็นตุ๊กตาที่ชาวญี่ปุ่นนิยมนำมาแขวนหน้าบ้านเวลาที่อยากให้อากาศแจ่มใส แต่ในบางโอกาสชาวนาก็จะแขวนกลับหัวแทนเพื่อเป็นการขอฝน 

สำหรับใครที่มีครอบครัว หรือมีกิจการทำการค้าการขายด้านการเกษตรคนไหนมีโอกาสได้ไปญี่ปุ่นก็ลองหาซื้อกลับใช้ขอฝนในหน้าแล้งบ้านเราดูก็ได้ ไม่แน่อาจจะได้ผลอย่างไม่คาดคิด หรือสามารถทำตุ๊กตาไล่ฝนเองง่าย ๆ ได้ ดังนี้

วิธีทำตุ๊กตาไล่ฝน

  • ใช้ผ้าหรือกระดาษ สีขาว ที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
  • หาลูกกลมไม่ใหญ่นักอะไรก็ได้จะเป็นลูกปิงปองหรือจะเป็นกระดาษทิชชู
  • เอาวางตรงกลาง แล้วก็รวบ ผ้าเข้าหากัน
  • เอาเชือกมัดเป็นคอ ก็จะได้เป็นรูปเป็นร่าง
  • วาดหน้าแล้วก็เอาไปแขวนได้

ตุ๊กตาวัวแดง อะกะเบะโกะ (Akabeko)

ตุ๊กตาวัวแดง อะกะเบะโกะ

อะกะเบะโกะ เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึง วัวสีแดง โดย (Aka) หมายถึง สีแดง และ (Beko) เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวภูมิภาคโทโฮกุ มีความหมายว่า วัว ดังนั้น อะกะเบะโกะจึงหมายความถึง วัวที่เป็นสีแดงนั่นเอง

ตุ๊กตาวัวแดง อะกะเบะโกะ เป็นอีกหนึ่ง ตุ๊กตานำโชคญี่ปุ่น ที่เป็นของเล่นตามแบบประเพณีดั้งเดิมที่นิยมทำขึ้นในเขตไอสุ ประเทศญี่ปุ่น ทำด้วยเปเปอร์มาเชร์แล้วห่อกับชิ้นไม้ จากนั้นตกแต่ง ระบายสี และเคลือบด้วยแลคเกอร์จนออกมาเป็นรูปวัวสีแดง ทั้งนี้ส่วนตัวกับส่วนหัวจะเป็นส่วนประกอบคนละส่วน เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวหรือสั่นสะเทือน หัวของวัวก็จะสั่นไปมา

ซึ่งตามตำนานของไอสุกล่าวว่าแต่เดิมนั้น อะกะเบโกะเคยเป็นวัวที่มีชีวิตอยู่จริง ๆ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซึ่งเป็นวัวที่ชักลากไม้เพื่อก่อสร้างวัดเอนโซจิ ที่มีภิกษุโทกุอิจิเป็นผู้ดูแลการสร้าง วัวนั้นได้มอบวิญญาณเพื่อแสดงถึงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้า และกลายเป็นหินไป ทั้งนี้ ยังมีตำนานฉบับอื่นกล่าวว่ามีวัวตัวหนึ่งไม่ยอมออกจากวัดเอนโซจิที่สร้างเสร็จแล้ว และกลายเป็นรูปปั้นอยู่ในวัด ตุ๊กตาอะกะเบโกะจึงเป็นสัญลักษณ์แทนความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้า

อย่างไรก็ตาม การสร้างตุ๊กตาอะกะเบโกะเริ่มขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยกาโม อุจิซาโตะ เจ้าผู้ครองแคว้นไอสุในขณะนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดโรคฝีดาษระบาดไปทั่วญี่ปุ่น ชาวไอสุจึงให้เด็ก ๆ พกตุ๊กตาอะกะเบโกะติดตัวเพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กไม่ติดโรค (เนื่องจากตุ๊กตาอะกะเบโกะมีสีแดง ซึ่งชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าสีแดงคือสีที่ขับไล่โรคร้ายต่างๆได้) ความเชื่อนี้ได้สืบเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน จนทำให้ตุ๊กตาวัวแดง อะกะเบะโกะกลายเป็นเครื่องรางที่สามารถขับไล่โรคร้าย

ตุ๊กตาฮินะมัตสึริ (Hina Matsuri)

ตุ๊กตาฮินะมัตสึริ

ตุ๊กตาฮินะมัตสึริ จะถูกนำมาจัดวางในช่วงงานเทศกาล ฮินะ มัตสึริ หรือเทศกาลเด็กผู้หญิง ที่จัดขึ้นวันที่ 3 มีนาคมของทุกปีของประเทศญี่ปุ่น ตามความเชื่อที่ว่าจะทำให้ลูกสาวมีสุขภาพแข็งแรง และมีความสุข สมัยก่อนเชื่อว่า ความโชคร้ายและความเจ็บป่วยจากเด็ก ๆ จะถูกถ่ายทอดไปยังตุ๊กตา จากนั้นตุ๊กตาจะถูกนำไปทิ้งในแม่น้ำหรือในทะเล

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าถ้าบ้านไหนจัดบูชาตุ๊กตาในวันที่ 3 มีนาคมแล้วนั้น หากพ้นวันนี้ไปแล้วต้องรีบเก็บตุ๊กตาทันที เพราะหากประดับทิ้งไว้นาน ๆ จะทำให้ลูกสาวขึ้นคานได้ ฉะนั้นก่อนที่จะซื้อมาฝากใคร หรือก่อนที่จะนำไปบูชาก็ศึกษาถึงเรื่องราวความเชื่อนี้ก่อนให้ดีนะ ไม่งั้นขึ้นคานมาจริง ๆ นี่แย่เลย

สรุป

ในทุกประเทศและในหลาย ๆ วัฒนธรรมต่างมีความเชื่อที่ผู้คนอาจถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด หรืออาจเติบโตมาพร้อมกับความเชื่อเหล่านั้น ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเองก็ต่างมีความเชื่อต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องราง สิ่งของนำโชค ตุ๊กตานำโชค  เป็นต้น 

ซึ่งการที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อต่าง ๆ นี้นั้นสามารถช่วยให้เราเข้าใจในวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งบางความเชื่อก็มีอิทธิพลที่ถูกส่งต่อมายังความเชื่อของคนไทยเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่น ตุ๊กตาแมวกวัก ที่เราพบเห็นกันตามหน้าร้านค้าอยู่บ่อยครั้ง ก็มีความคล้ายกับการบูชานางกวักของคนไทย เพื่อเสริมโชคลาภทางการค้านั่นเอง

อย่างไรก็ตามใครที่มีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วนึกไม่ออกว่าจะซื้อของขวัญของฝาก อะไรดีก็ลองเก็บไอเดีย 5 ตุ๊กตานำโชคญี่ปุ่น ที่ทางเรา Ruay แนะนำกันไปติดไม้ติดมือกลับมานำโชคให้กับตัวเองและคนที่คุณรักดูก็ได้ รับรองว่า ซื้อฝากก็ดี ซื้อเก็บก็ได้ แถมยังเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และโชคลาภได้อีกด้วย

บทความแนะนำอื่นๆที่น่าสนใจ

Facebook
Twitter
Email