‘เธอบอกอยากกินอะไรอร่อย ๆ จะบ้าหรอ เธอจะกินเราไม่ได้นะ’ แต่เธอต้องกินข้าว!! ถึงแม้ตอนนี้เราเริ่มก้าวเข้าสู่ระยะเวลาครึ่งปีหลังอย่างเป็นทางการ และกำลังเตรียมนับถอยหลังเข้าสู่ช่วงปีใหม่อีกครั้ง ณ ช่วงเวลานี้คนส่วนใหญ่นิยมเสริมดวงด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะทำบุญ ไหว้พระ รวมไปถึงการรับประทาน “อาหารมงคล”
อาหารมงคล คือ อาหารการกินเพื่อเสริมมงคลชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทั้งนามมงคล รูปลักษณ์มงคล ความหมายมงคล หรือเป็นอาหารที่นิยมรับประทานในงานมงคล ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมด้านอาหารของไทยที่สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น
คนไทยสมัยก่อนมักจะเลือกใช้อาหารที่มีความหมายดี ๆ ในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานบวช เพราะเชื่อกันว่าเมื่อทานแล้วจะเกิดมงคล สร้างความรุ่งเรืองแก่ชีวิต ให้มีโชคลาภ ร่ำรวย
ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในประเทศไทยของเรานั้นมีอาหารอยู่มากมาย แต่เมนูไหนจะได้ชื่อว่าเป็นอาหารมงคล ถ้าอยากรู้ Ruay365.com จะบอกให้กับ 10 เมนูอาหารมงคล ที่กินแล้วเฮงเหมาะกับทุกเทศกาล และ อาหารต้องห้ามที่ไม่เป็นมงคล จะมีเมนูไหนที่รสชาติอร่อยถูกปาก และเป็นเมนูโปรดของคุณบ้าง ไปดูกัน…
10 เมนู อาหารมงคล กินแล้วเฮง
ลาบ

เป็นได้ทั้งอาหารอีสานและอาหารเหนือ รสชาติแซ่บถึงใจถูกปากคนไทยอย่างแน่นอน โดยคำว่า “ลาบ” พ้องเสียงกับคำว่า “ลาภ” ที่แปลว่า ความโชคดี ลาภลอย การได้มาโดยคาดไม่ถึง ไม่ได้คาดหมายมาก่อน เราจึงนิยมนำลาบไปถวายพระกันเพราะต้องการได้รับสิ่งดี ๆ
และตามแนวคิดของคนรุ่นก่อน “ลาภ” หมายถึง “อโรคยา ปรมา ลาภา” หรือความไม่มีโรค คือ ลาภอันประเสริฐ ถือเป็นเมนูสุขภาพที่เต็มไปด้วยพืชผักสมุนไพรให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย
ขนมจีนน้ำยา



ในประเทศไทยมีการกินขนมจีนกันทั่วไปในทุกภูมิภาค เป็นอาหารมงคลที่นิยมนำมาใช้ในงานพิธีแต่งงาน เนื่องจากลักษณะของขนมจีนเป็นเส้นต่อกันยาว ๆ หมายถึง การก่อร่างสร้างตัวได้เร็วขึ้น ทำสิ่งใดมักจะสำเร็จต่อเนื่องกันไม่ขาดตอน ให้ความรักของบ่าวสาวยืดยาวเหมือนกับเส้นขนมจีน
อีกทั้งการรับประทานคู่กับผักเคียงอย่าง “ถั่วงอก” ก็ยิ่งส่งเสริมความหมายในเรื่องของความเจริญงอกงาม ความก้าวหน้า ในหน้าที่การงานและด้านการค้าขาย
ผัดไทยเส้นจันท์



อีกหนึ่งเมนูเส้นที่จัดอยู่ในรายชื่ออาหารมงคล เพราะการรับประทานเส้นก๋วยเตี๋ยวยาว ๆ เหมือนดั่งการอวยพรให้ตนเองมีอายุยืนยาว ทำอะไรราบรื่นไม่ขาดตอน รวมไปถึงลักษณะของเส้นที่มีความเหนียวนุ่ม ไม่เปื่อยง่าย จึงทำให้มีความหมายในแง่ของความรักที่เหนียวแน่น
ต้มจืด



ถึงแม้คำว่า “จืด” เราจะนึกถึงความจืดชืด แต่ความจริงแล้วคนโบราณเปรียบการซดน้ำแกงร้อน ๆ รสชาติลื่นคอไม่เผ็ดร้อนของต้มจืดว่าจะทำให้ชีวิตราบรื่น คล่องแคล่ว ยิ่งถ้าในแกงจืดมีวุ้นเส้นและสาหร่าย จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายดี ๆ แบบทวีคูณ
- วุ้นเส้น หมายถึง ชีวิตยืนยาว
- สาหร่าย หมายถึง ร่ำรวยความมั่งคั่ง
เกี๊ยว



เป็นเมนูอาหารจีนมงคลที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในเทศกาลวันตรุษจีน ซึ่งรูปลักษณ์ของเกี๊ยวนั้นมีลักษณะคล้ายกับเงินตำลึงจีนในสมัยโบราณ จึงนำมาใช้ในการสื่อความหมายเปรียบถึงความมั่งคั่งร่ำรวย เรียกเงินทองเข้าหาตัว
ห่อหมก



อาหารที่มีรสชาติเผ็ดถึงเครื่อง มีส่วนผสมของพริกแกงและสมุนไพรนานาชนิดนี้ ถึงจะดูเป็นอาหารบ้าน ๆ แต่บอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งอาหารมงคลที่สื่อถึงความรัก นิยมนำมาจัดวางไว้ในพิธีแต่งงาน เพราะห่อหมกจะทำให้คู่รักได้รักกันยาวนาน ไม่มีปัญหาขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น ดั่งสำนานที่ว่า “เออออห่อหมก” นั่นเอง
เมนูเต้าหู้



“เต้าหู้” คนไทยเรียกเต้าหู้เพี้ยนมาจากภาษาจีนที่ออกเสียงว่า โตวฟู (Dòufu) ซึ่งคำว่า “ฟู” คล้องกับคำว่า “ ซิ่งฝู” (Xìngfú) ที่แปลว่า “ความสุข” เป็นตัวแทนของอาหารแห่งความสุข นอกจากนี้ป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์ครบถ้วน มีคุณค่าทางโภชนาการสูงโดยเฉพาะโปรตีน ทำให้รับประทานแล้วสุขภาพดีได้อีกด้วย เช่น เต้าหู้ทอด เต้าหู้นึ่งราดซอสเห็ดหอม เป็นต้น
เมนูปลา หรือ ลูกชิ้นปลา



เมนูปลานั้นสื่อถึงการผ่านพ้นปัญหาไปได้ หรือปลาที่ว่ายน้ำได้อย่างลื่นไหล อีกทั้งคำว่าปลาในภาษาจีนคล้องเสียงกันคำว่า “หยูวี้” ที่แปลว่า ร่ำรวย เหลือกินเหลือใช้ไม่ขัดสน เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เช่น ปลานึ่งซีอิ๊ว ปลาทอดราดพริก เป็นต้น
รวมถึงเมนูลูกชิ้นปลา ที่มีส่วนผสมของปลาและรูปร่างกลม จึงนำมาใช้ในการสื่อความหมายเปรียบถึงความร่ำรวยที่ไม่มีที่สิ้นสุดแบบอินฟินิตี้ เป็นเมนูที่มีประโยชน์ หาง่าย และเหมาะกับทุกประเภทเทศกาล
ขนมจีบ



เป็นตัวแทนของคู่รัก และความรัก ยิ่งคู่สามีภรยาที่แต่งงานกันมานานหลายปี จนเกิดความเบื่อหน่ายกันบ้าง แนะนำให้หาขนมจีบมากินเป็นการแก้เคล็ด เพื่อให้ความรักหวานชื่นเหมือนในช่วงที่จีบกันใหม่ ๆ
ขนมหวานตระกูลทอง



เสริมทัพมงคลชีวิตด้วย “ขนมหวานมงคล” เอกลักษณ์ของความเป็นไทย นอกจากจะมีความงดงาม พิถีพิถันในทุกขั้นตอนการทำแล้ว ยังมีรสชาติที่อร่อย และความหมายอันเป็นสิริมงคลที่แตกต่างกันออกไป นิยมรับประทานในงานมงคลเพื่อเสริมเติมความเป็นสิริมงคล อาทิเช่น
- ขนมทองหยิบ หมายถึง “หยิบ” ความร่ำรวย หยิบเงินหยิบทอง ทำการงานสิ่งใดก็จะร่ำรวยมีเงินมีทองใช้ไม่ขาดมือ
- ขนมทองหยอด หมายถึง “หยอด” หยอดเงินหยอดทอง ให้ร่ำรวยมีเงินมีทองใช้อย่างไม่รู้หมดสิ้น
- ขนมฝอยทอง หมายถึง อวยพรให้มีชีวิตที่ยืนยาวเหมือนเส้นของฝอยทองแต่ละเกลียวที่ยาวไม่มีที่สิ้นสุด
- ขนมทองเอก หมายถึง การรักเดียวใจเดียว หรือความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน การได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง และความสำเร็จใจการเจรจาธุรกิจต่าง ๆ
อาหารไทยนั้นมีหลากหลายภาค ทำให้เมนูอาหารที่เราเห็นในงานมงคลต่าง ๆ นั้น ถูกแยกไปตามวัฒนธรรมการกินของแต่ละพื้นที่ ฉะนั้นแล้วหาก 10 เมนูที่เราได้แนะนำไปยังไม่เข้าตา คุณสามารถพิจารณาจากปัจจัยหลักสำคัญสำหรับ อาหารมงคล ที่ประกอบไปด้วย 4 อย่าง ดังนี้
องค์ประกอบหลักสำคัญสำหรับ อาหารมงคล
-ข้าว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ จะใช้ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า หรือข้าวสวยก็ได้
-น้ำแกง หมายถึง การทำให้ชีวิตราบรื่น คล่องแคล่ว คล้ายกับการซดน้ำแกงร้อน ๆ ลื่นคอ
-ปลา หมายถึง พละกำลัง ความเข้มแข็ง ความอดทน การอยู่รอด
-ของหวาน (ต้องมีชื่อที่เป็นมงคล) หมายถึง เสริมทัพมงคลชีวิต เติมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตให้หอมหวาน สมบูรณ์
อาหารต้องห้าม ไม่เป็นมงคล
เมื่อทราบกันแล้วว่าเมนูอาหารมงคลมีอะไรบ้าง คราวนี้มาถึงตาของเมนูอาหารต้องห้าม ที่ไม่ควรจัดเสิร์ฟหรือเลี้ยงในเทศกาลงานมงคลต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นประเภทอาหารที่มีกลิ่น หรืออาหารที่มีชื่อไม่เป็นมงคล ได้แก่



แกงบอน
เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารไทยโบราณ ที่ทำมาจากบอน พืชล้มลุกที่ชอบขึ้นตามชายน้ำหรือที่ลุ่มมีน้ำขัง คำว่า “บอน” หมายถึง อาการที่มือหรือปากอยู่ไม่สุข จึงสื่อถึงความปากบอน ปากเสีย อาจทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้
ข้าวต้ม
เป็นอาหารที่พบเห็นกันมากในงานศพ ซึ่งเป็นงานอวมงคล ทำให้ไม่เหมาะเท่าไหร่นักที่จะนำเมนูนี้มาไว้ในงานมงคลต่าง ๆ
หมี่กรอบ
ถึงแม้จะเป็นเมนูเส้นก็จริง แต่หมี่กรอบมีลักษณะเส้นที่มีความหักงอ หักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ง่าย จึงสื่อถึงความเปราะบาง ถึงขั้นแตกหักกันเลยก็ว่าได้
ตีนไก่
แค่ชื่อก็ไม่เป็นมงคลแล้ว และคำว่า “ตีน” เป็นคำหยาบคายในภาษาไทย เชื่อกันว่าเป็นลางร้ายที่อาจทำให้ชีวิตมีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ใช้ความรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออก
ปลาร้า
ปลาร้าเป็นอาหารประเภทหมักดอง อีกทั้งยังมีกลิ่นแรง จึงไม่เหมาะกับงานมงคลต่าง ๆ โดยเฉพาะงานแต่งงาน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ความรักของทั้งคู่โดนดอง จนเบื่อและเหม็นหน้ากัน
หอยขม
ด้วยคำว่า “ขม” สื่อถึงความขมขื่น ไม่มีความสุข จึงไม่นิยมนำหอยขมมาทำเป็นอาหารในงานมงคลต่าง ๆ
สรุป
การรับประทานอาหารคาวหวาน ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อาหารมงคล” นั้น ถือเป็นวัฒนธรรมและประเพณีด้านอาหารของไทยที่สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น เป็นที่เชื่อกันว่าเมื่อทานแล้วจะเกิดความเป็นสิริมงคล สร้างความรุ่งเรืองแก่ชีวิต ให้มีโชคลาภ ร่ำรวยมั่งคั่ง
โดยส่วนใหญ่อาหารมงคลจะถูกจำแนกจาก ชื่อที่เป็นมงคล รูปลักษณ์มงคล และความนิยมรับประทานกันในงานมงคลต่าง ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการกินของแต่ละพื้นที่ด้วยที่ทำให้มีความแตกต่างกันออกไปบ้าง
และไม่ว่าจะเลือกกินอาหารเพื่อเสริมความมงคลให้กับชีวิตอย่างไร ก็ควรควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ และไม่จำเป็นต้องรอถึงปีใหม่ เราทุกคนก็สามารถเริ่มทำสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองได้ในทุก ๆ วัน