วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุประจำปีฉลู จังหวัดลำปาง

มาเที่ยวถึงลำปาง ต้องห้ามพลาดแวะ วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวลำปาง มีมาตั้งแต่โบราณ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย อีกทั้ง ยังเป็นพระธาตุประจำปีฉลูอีกด้วย ใครที่เกิดปีฉลู ต้องอย่าลืมมาแวะไหว้ที่นี่ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตด้วย

ลำปาง เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของทางภาคเหนือ มีวัฒนธรรมตามแบบฉบับชาวล้านนา รายล้อมไปด้วยภูเขาและธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน และยังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี ก็คือ ‘เมืองรถม้า’ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง มีวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำจังหวัด ให้ผู้คนได้มาสักการบูชากัน ใครที่อยากรู้ว่า วัดพระธาตุลำปางหลวง มีดีอะไร ต้องตาม Ruay ไปสำรวจกันเลย

วัดพระธาตุลำปางหลวง
ขอบคุณภาพจาก EDT Guide

ตำนานวัดพระธาตุลำปางหลวง

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ออกเดินทางไปเมืองต่างๆ พร้อมกับพระเถระ 3 องค์ จนกระทั่ง ไปถึงบ้านลัมภะกา รีวัน หรือบ้านลำปางหลวงในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าได้พักอยู่ที่เหนือดอยม่อนน้อย และได้พบกับชาวลัวะ ชื่อ ลัวะ อ้ายกอน ที่ศรัทธาในพระองค์ พร้อมถวายน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างมะพร้าวและมะตูม เมื่อท่านได้ดื่ม ก็ทิ้งกระบอกไม้ไปทางทิศเหนือ แล้วบอกว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ‘ลัมพกัปปะ นคร’ แล้วนำพระเกศาหนึ่งเส้น มอบให้ลัวะ อ้ายกอน

วิหารวัดพระธาตุลำปางหลวง
ขอบคุณภาพจาก kidjapak

ลัวะ อ้ายกอน ได้นำพระเกศาไปบรรจุไว้ในผอบทองคำ และเก็บไว้ในอุโมงค์ พร้อมถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชายันต์ แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ พร้อมถมดินให้เรียบเสมอกัน ก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ต่อมา ได้มีกษัตริย์นครลำปางหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกลายเป็น วัดที่สวยงาม ในปัจจุบัน

รูปปั้นปูนภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง
ขอบคุณภาพจาก kidjapak

ในปี พ.ศ. 2275 นครลำปางได้เกิดความวุ่นวาย เนื่องจากพม่าได้แผ่อำนาจมายังอาณาจักรล้านนา โดยทำการยึดครองเมืองเชียงใหม่ ลำพูน จากนั้นแต่งตั้งให้ผู้ครองนครอยู่ภายใต้อำนาจของการปกครองของกษัตริย์พม่า มีนามว่า ท้าวมหายศ ผู้ครองนครลำพูน จากนั้น ท้าวมหายศ ได้ยกทัพมายึดนครลำปาง โดยตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง

เมืองรถม้า ลำปาง
ขอบคุณภาพจาก จิมมี่ พาตะลอน

ในครั้งนั้น มีวีรบุรุษของชาวลำปาง คือ หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (อำเภอห้างฉัตร ในปัจจุบัน) ได้รวบรวมกำลังพล เพื่อสู้กับเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย ก่อนที่จะนำกองทัพตีทัพนครลำพูนที่ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุหลวงลำปางจนพ่ายแพ้ไป หลังจากนำกองทัพตีทัพจากลำพูนแตกพ่าย หนานทิพย์ช้าง ก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นพระยาสุลวะลือไชยสงคราม ขึ้นครองนครลำปาง จนเป็นที่มาของเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง, ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน และ ณ น่าน ถึงปัจจุบัน

หนายทิพย์ช้าง คือ

พระยาไชยสงคราม, พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม, พระยาสุลวะลือไชยสงคราม หรือ พ่อเจ้าทิพย์ช้าง เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางในช่วง พ.ศ. 2275 – 2302 (จ.ศ. 1120) และต้นราชวงศ์ทิพย์จักร

เงาพระธาตุกลับหัว มีที่ไหนบ้าง

นอกจากพระธาตุลำปางหลวงที่ จ.ลำปาง จะมีเงาพระธาตุกลับหัวแล้ว ใน จ.ลำปาง ยังมีพระธาตุอื่นๆ ที่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ได้แก่ เงาพระธาตุจอมปิง และ เงาพระธาตุวัดอักโขชัยคีรี

ไฮไลท์เด็ดประจำวัดพระธาตุลำปางหลวง

เมื่อทราบประวัติที่มาคร่าว ๆ ของนครลำปาง และพระธาตุลำปางหลวงกันแล้ว คราวนี้มาดูสถานที่สำคัญที่หากมีโอกาสไปสักการะพระธาตุลำปางหลวงแล้วต้องไม่พลาดที่จะเข้าไปเยี่ยมชม

ประตูโขง
ขอบคุณภาพจาก จิมมี่ พาตะลอน

ประตูโขง

งานช่างฝีมือหลวงที่ทำการก่ออิฐปูน เป็นซุ้มยอดแหลมเป็นชั้นๆ มีสี่ทิศ ตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้และสัตว์ในป่าหิมพานต์ ประตูโขงแห่งนี้ ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดลำปางด้วย

วิหารหลวง

วิหารประธานของวัด ตั้งอยู่แนวเดียวกับประตูโขง มีลักษณะเป็นจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาจั่วซ้อนเป็นชั้นๆ ภายในบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง มีภาพเขียนสีโบราณเรื่องชาดกให้รับชมความวิจิตรงดงามด้วย

องค์พระธาตุเจดีย์

มีความผสมผสานกันระหว่างทรงล้านนาและทรงลังกา ใช้บรรจุพระบรมสารีริก และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด ขนาดหน้าตัก กว้าง 45 นิ้ว

พระศักดิ์สิทธิ์ วัดพระธาตุลำปางหลวง
ขอบคุณภาพจาก จิมมี่ พาตะลอน

วิหารพระพุทธ

ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างขึ้นตอนไหนและสร้างโดยใคร แต่คาดว่าการก่อสร้างได้สร้างมาแล้วไม่ขั้นต่ำกว่า 700 ปี มีการตกแต่งด้วยกระจกสี ภายในประดิษฐานพระประธานเป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคาร ซึ่งเป็นศิลปะเชียงแสนที่งดงามมากเช่นกัน

วิหารน้ำแต้ม

เรียกอีกอย่างคือ ‘วิหารภาพเขียนสี’ ซึ่งคำว่า ‘แต้ม’ แปลว่าภาพเขียน สร้างในปี พ.ศ. 2044 เป็นอีกหนึ่งวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในทางภาคเหนือ มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสอง เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดและหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศเมืองไทย นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสัมริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.25 เมตร

ซุ้มพระบาท

สร้างไว้เพื่อครอบพระพุทธบาทสร้างในปี พ.ศ. 1992 ฐานก่อขึ้นคล้ายเจดีย์ ภายในสามารถมองเห็นแสงหักเห ปรากฏเป็นเงาพระธาตุ และพระวิหารในด้านมุมกลับ ซึ่งวิหารจะพิเศาอยู่อย่างคือ ห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปเด็ดขาด

สถาปัตยกรรมการออกแบบล้านนา
ขอบคุณภาพจาก จิมมี่ พาตะลอน

กุฏิพระแก้ว

สถานที่ที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี

วิหารพระเจ้าศิลา

เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ โดยได้รับมอบมาจากพระบิดาของ พระนางจามเทวี ในปี พ.ศ. 1275

พิพิธภัณฑ์

หลังจากเดินชมวัดโดยรอบแล้ว เราสามารถเข้ามาดูพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น

การเดินทางไปวัดพระธาตุลำปางหลวง

ภาพโบสถ์สะท้อนเงา วัดพระธาตุลำปางหลวง
ขอบคุณภาพจาก kidjapak
  • โดยรถยนต์ส่วนตัว

วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองลำปาง ประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลำปาง – เถิน ถึงหลักกิโลเมตรที่ 586 เลี้ยวเข้าไป จนถึงที่ว่าการอำเภอเกาะคา จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าอีก 1 กิโลเมตร ก็จะถึงวัด

  • โดยรถโดยสารประจำทาง

สามารถใช้บริการรถสองแถวสีฟ้า ที่ถนนรอบเวียงใกล้ตลาดออมสิน

ข้อมูลทั่วไปของวัดพระธาตุลำปางหลวง

ศาลาวัดพระธาตุลำปางหลวง
ขอบคุณภาพจาก kidjapak

ที่ตั้ง : ถนนลำปาง-เกาะคา ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง 52130

เวลาทำการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30 – 17.00 น.

ส่วนช่องทางติดต่อได้แก่ Facebook: วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

พระพุทธรูป วัดพระธาตุลำปางหลวง
ขอบคุณภาพจาก kidjapak

สรุป

สำหรับปี 2564 ถือเป็นปีประจำวันเกิดของชาวฉลู ซึ่งพระธาตุประจำวันเกิด ก็คือ วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในจังหวัดลำปาง เป็นพระธาตุประจำจังหวัด และยังมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ของไทยเป็นอย่างมาก มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยของพระพุทธเจ้า ทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ธรรมดา ใครที่เกิดปีฉลูหรือมีโอกาสไปเที่ยวที่จังหวัดลำปาง ก็อย่าลืมไปแวะไหว้วัดพระธาตุลำปางหลวง เพื่อความเป็นสิริมงคลกันด้วยนะ

บทความแนะนำ

Facebook
Twitter
Email