วิธีทวงเงิน

10 วิธีทวงเงิน ทำอย่างไรให้ได้เงินคืนชัวร์

ทำไมต้องรู้สึกผิดทุกครั้งที่จะเอ่ยปากทวงเงิน ทั้งที่มันเป็นสิทธิ์ของเรา..เชื่อว่าหลายคนประสบปัญหากับการทวงเงิน มันดูเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยมีใครชอบทำ และบ่อยครั้งที่คนทวงเงินถูกมองว่าเป็นคนไม่มีน้ำใจ ทั้งที่ตัวเองก็เป็นคนให้ยืมแท้ ๆ เศร้าปะล่ะ ทวงเงินลูกค้าว่ายากแล้ว ทวงเงินเพื่อนยิ่งยากกว่า แต่เราจะปล่อยให้ความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้มาทำให้ตัวเองเดือดเนื้อร้อนใจต่อไปก็คงจะไม่ได้ บทความนี้ Ruay จึงมีคำแนะนำดี ๆ สำหรับ วิธีทวงเงิน มาแบ่งปัน ถ้าอยากรู้ว่าการทวงเงินแบบสุภาพแล้วได้เงินคืนทำอย่างไร ต้องอ่านให้จบ!

สารบัญ

10 วิธีทวงเงิน แบบสุภาพ

คนทวงเงิน

ถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นได้ว่าปัญหาการทางหนี้นั้นมีลักษณะคล้ายกันอยู่ เริ่มจาก “พูดดีเมื่อถึงเวลายืม ทำลืมเมื่อถึงเวลาใช้” และไม่ว่าลูกหนี้ของคุณจะมีสถานะเป็นลูกค้า พี่น้อง หรือเพื่อนฝูงก็ตาม ถ้าอยากได้เงินคืนกลับมาแบบครบ ๆ และยังสามารถรักษามิตรภาพได้ใจคน ๆ นั้นด้วย ลองทำตามแนวทาง 10 วิธี ดังต่อไปนี้

ถามตรง ๆ อย่างสุภาพ

การปกป้องสิทธิ์ของตัวเองเป็นเรื่องที่ควรทำให้เป็นปกติอย่างมาก เรามีสิทธิ์ที่จะทวงถามแต่ทั้งนี้ก็ขอให้เป็นการทวงด้วยความสุภาพและจริงใจ ไม่จำเป็นต้องใส่อารมณ์กัน เลือกใช้ถ้อยคำดี ๆ อย่าใช้ถ้อยคำข่มขู่ หยาบคาย หรือรุนแรง เพราะมันไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น 

สิ่งที่คุณต้องทำก็คือดูให้ดีว่าลูกหนี้ของคุณนั้นตระหนักถึงหนี้ของตัวเองว่ายังไม่ได้จ่ายคืนตามกำหนดหรือไม่ บางครั้งคนเราก็แค่ลืมเฉย ๆ และการเตือนเขาดี ๆ ก็มีโอกาสที่จะได้คืน และยังสามารถรักษามิตรภาพไว้ได้

มีกำหนดเวลาให้ตามสมควร

การที่คุณกำหนดระยะเวลาไว้ด้วยกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ช่วยให้การติดตามทวงถามหนี้ทำได้ง่ายขึ้น สุภาพขึ้น และมีเหตุมีผลมากขึ้น เพราะคุณได้มีกำหนดเวลาชัดเจนว่าลูกหนี้จะต้องตอนไหน จะทวงถามในช่วงเวลาไหนเพื่อไม่ให้เป็นการเสียมารยาท และไม่ทำร้ายความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ทำทุกอย่างให้เป็นหลักฐาน

วิธีทวงเงิน ข้อนี้สัมพันธ์กันกับข้อการกำหนดเวลาให้ตามสมควรข้างต้น ถ้าการตกลงกันครั้งแรกของคุณไม่ได้กำหนดวันจ่ายคืนตายตัว คุณต้องพิจารณาดูว่าคุณเชื่อใจคน ๆ นั้นมากแค่ไหน เพื่อเป็นการป้องกันการโดนบิดไม่ยอมคืนเงินได้มากที่สุด คือ ควรหาทางทำให้การยืมเงินมีหลักฐานอย่างชัดเจน 

เช่น หากเพื่อนขอยืมเงิน ให้พิมพ์ข้อความส่งไปหาเพื่อนว่าจะยืมเงินเท่าไหร่ กำหนดคืนเงินวันไหน เพราะเราไม่รู้เลยว่าเพื่อนจะไว้ใจได้จริงหรือไม่ การมีหลักฐานการยืมเงินไว้อย่างน้อยก็สร้างความสบายให้เราได้ และการพูดปากเปล่าก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้เช่นกัน

พูดคุยตรง ๆ เกี่ยวกับปัญหา

ถ้าหากถึงเวลาตามกำหนดที่จะต้องคืนเงินแล้ว แต่ลูกหนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีเงินมาจ่ายตามที่ตกลงกัน ไม่ว่าจะติดตาม ทวงถามเท่าไหร่ก็ตาม คุณควรที่จะมีวิธีทวงเงินด้วยการลองพูดคุยตรง ๆ กับว่าเขากำลังมีปัญหาอะไรอยู่หรือไม่ เพื่อที่จะยื่นข้อเสนอช่วยให้เขาสามารถหาเงินมาจ่ายคืนได้ เช่น ยืดระยะเวลาการจ่ายเงินคืนให้ ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยเพิ่ม

เสนอช่องทางที่หลากหลายในการจ่ายเงิน

หลังจากพูดคุยตรง ๆ เกี่ยวกับปัญหา ประเมินทัศนคติของลูกหนี้แล้วพิจารณาว่าการรอให้ลูกหนี้จ่ายเงินเต็มจำนวนอาจจะไม่คุ้มค่ามากนัก หากจำนวนเงินนั้นเล็กน้อย หรือคุณไม่คิดว่าลูกหนี้ของคุณจะจ่ายคืนได้ ลองพิจารณาให้พวกเขาจ่ายหนี้ด้วยสิ่งอื่นแทน เช่น เปลี่ยนจากการคืนเงิน เป็นการเลี้ยงข้าวแทน หรือทำอย่างอื่นตอบแทนเพื่อเป็นการจ่ายหนี้ 

โดยพยายามยื่นข้อเสนอให้ชัดเจน แต่อย่าปล่อยให้การต่อรองในลักษณะนี้เร็วเกินไปนัก เพราะอาจส่งสัญญาณให้กับลูกหนี้ได้ว่าหนี้สินครั้งนี้สามารถต่อรองได้ หรือลูกหนี้จะสามารถยืดเวลาจ่ายหนี้ออกไปได้ ซึ่งวิธีทวงเงิน นี้อาจจะเหมาะกับการทวงเงินเพื่อนมากกว่าการทวงเงินลูกค้า 

ให้เกียรติลูกหนี้เสมอทั้งต่อหน้าและลับหลัง

ไม่ว่าลูกหนี้จะเป็นใคร สิ่งสำคัญ คือ ต้องให้เกียรติเขาเสมอ การเป็นหนี้ไม่ได้หมายถึงการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคน การเปิดเผยว่าเขาเป็นหนี้อาจทำให้กระทบต่อชีวิตด้านอื่น ตามบทบาทในสังคมของเขาด้วย 

หากต้องการคุยถึงหนี้สินที่ติดค้าง ควรหนักแน่นในจุดยืน ใช้ความสุภาพ และทำอย่างเป็นการส่วนตัว เช่น คุยทางโทรศัพท์ นัดเจอเป็นการส่วนตัว และหลีกเลี่ยงการทวงเงินต่อหน้าคนอื่น โดยเฉพาะการทวงเงินผ่านโซเชียลที่อาจมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากจะไม่ได้เงินคืนแล้วอาจจะต้องเสียค่าปรับกันอีก

บอกถึงความจำเป็น

ในเมื่อตอนเขามายืมเขามีความจำเป็นและเดือดร้อน ถึงคราวที่เราเดือดร้อนและต้องการที่จะได้เงินตรงนั้นมาช่วยเหลือตัวเองก็ไม่ต้องรู้สึกเกรงใจใด ๆ บอกถึงความจริงที่เรากำลังเผชิญให้ลูกหนี้รับรู้ว่าเราต้องการเงินด่วน ถ้าคนยืมไปเขาคิดได้ก็น่าจะเห็นใจเราขึ้นมาบ้าง ดีกว่านิ่งเฉยจนตัวเองต้องเดือดร้อน แบบนั้นไม่ดีแน่

ให้คนใกล้ตัวช่วยเตือน

วิธีทวงเงิน นี้เหมาะสำหรับกรณีที่คุณอาจพูดทวงเองไม่ได้ เช่น คนยืมเป็นหัวหน้าหรือญาติเรา ก็ลองให้คนอื่นรอบตัวเค้าพูด ไหว้วานเพื่อนสนิท ผู้ใหญ่ช่วยพูดแทนให้ หรือหากลูกหนี้เป็นเพื่อนของเรา แต่เพื่อนก็ยังไม่มีทีท่าจะคืนเงินเรา อาจต้องใช้วิธีนี้โดยเลือกจากบุคคลที่ลูกหนี้ให้ความเคารพและเกรงใจ เช่น พ่อแม่ คนในครอบครัวของลูกหนี้ หรือเพื่อนสนิท เป็นคนช่วยพูดช่วยเตือนให้

เพิ่มระดับความหนักแน่น

บางทีคนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าคนที่ใจดีมักจะไม่คิดอะไรมาก ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด แต่ในที่นี้ก็ไม่หมายความว่าให้เปลี่ยนเป็นคนที่ใจร้ายใจดำนะ ที่ไม่ให้ใจดีเกินเพราะจะโดนเอาเปรียบกันง่าย ๆ นี่แหละ ฉะนั้นหากทำทวงเงินมาด้วยสารพัดวิธีแล้วลูกหนี้ก็ไม่ยอมจ่ายเงินคืนสักที คุณควรจะต้องเอาจริงให้มากขึ้น ทำให้ชัดเจนไปเลยว่าคุณหวังที่จะได้รับเงินคืนทันที หรือกำหนดเวลาจ่ายหนี้ที่แน่นอน และได้ให้คำแนะนำสำหรับการจ่ายนี้ไปแล้ว

คุณควรใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมามากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วน จะช่วยให้ลูกหนี้รู้ว่าคุณนั้นจริงจัง และคุณไม่เต็มใจที่จะต่อรองในภายภาคหน้า พยายามพูดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่จ่ายหนี้อย่างชัดเจน ให้ลูกหนี้ได้รู้ว่าคุณมีแผนการอะไรถ้าคุณไม่ได้รับเงินคืนในเวลาที่กำหนด และเตรียมตัวที่จะทำตามนั้น

ดำเนินการทางกฎหมาย

หากเลือกใช้หลาย วิธีทวงเงิน แล้วไม่ได้ผลคงต้องใช้กฎหมายเป็นตัวช่วย ก่อนลงมือควรแจ้งให้เขาทราบก่อนด้วยว่าคุณผิดหวังในตัวเขามากแค่ไหน และกำลังจะดำเนินการอะไรต่อไป รวมถึงศึกษาถึงสิ่งที่คุณไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าคุณกำลังทวงหนี้ของตัวเอง อาจจะมีการกระทำบางอย่างที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นคุณต้องทำตามกฎหมายในที่ที่คุณอยู่ด้วย เพราะสถานที่ต่างกัน กฎหมายก็ต่างกันไป

ทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย

หนังสือกฎหมาย

มาดูกันว่า เจ้าหนี้-ลูกหนี้ ควรทราบรายละเอียดเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ทวงหนี้แบบใดเข้าข่ายคุกคามหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกหนี้ และลูกหนี้ควรปฏิบัติอย่างไร หากได้รับความไม่เป็นธรรมจากการทวงหนี้

วิธีทวงเงิน สิ่งที่เจ้าหนี้ควรรู้

“ผู้ทวงถามหนี้” คือ เจ้าหนี้ 

ผู้ให้กู้เงิน ไม่ว่าจะโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เช่น ธนาคาร, บริษัทบัตรเครดิต, บริษัทเช่าซื้อ คนที่ซื้อหรือรับโอนหนี้, ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค, ผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น รวมถึงผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ให้ทวงถามหนี้ อาทิ บริษัทรับทวงหนี้

“ธุรกิจทวงถามหนี้” คือ ผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างทวงหนี้ 

ซึ่งต้องได้รับการจดทะเบียนทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน กรณีผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนายความ ให้จดทะเบียนกับสภาทนายความ ผู้ฝ่าฝืนไม่ไปจดทะเบียนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

กรณีผู้ที่ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้อยู่หน้านี้ 

ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ (2 กันยายน) โดยระหว่างนี้ให้ยังประกอบธุรกิจได้อยู่

ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ ประกอบธุรกิจรับทวงหนี้ 

หรือไปช่วยคนอื่นทวงหนี้ที่ไม่ใช่หนี้ของตัวเอง เว้นแต่เป็นหนี้ของสามีภรรยา พ่อแม่ หรือลูก ให้สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ห้ามทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ 

เว้นแต่เป็นบุคคลที่ลูกหนี้ระบุให้ไปทวงถาม โดยมีข้อปฏิบัติคือ

  • ผู้ทวงหนี้ต้องแสดงตัว แจ้งชื่อ-สกุล พร้อมแสดงเจตนาว่าต้องการถามหาข้อมูลเพื่อติดต่อลูกหนี้
  • ผู้ทวงหนี้ห้ามเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ ยกเว้นผู้ที่ได้ติดต่อนั้นเป็นสามีภรรยา พ่อแม่ หรือลูกของลูกหนี้ โดยให้บอกเล่าเท่าที่จำเป็น
  • ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย
  • ห้ามหลอกลวงหรือทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลของลูกหนี้
  • ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

การทวงถามหนี้ ให้ปฏิบัติดังนี้

  • ติดต่อลูกหนี้ตามสถานที่ติดต่อที่ให้ไว้
  • ติดต่อในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. และในวันหยุดราชการ เวลา 08.00-18.00 น. หากฝ่าฝืนจะถูกสั่งระงับการดำเนินการ และหากยังฝ่าฝืนซ้ำจะถูกโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • ติดต่อทวงถามหนี้ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง และลูกหนี้ต้องรับทราบการทวงถามหนี้นั้นด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณีเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ทวงหนี้ ต้องแสดงหลักฐานด้วยว่าตนเองได้รับมอบหมายมา

วิธีทวงเงิน สิ่งที่ลูกหนี้ควรรู้

ข้อห้ามปฏิบัติของผู้ทวงหนี้

  1. ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้ หรือใช้คำไม่สุภาพ ถ้าฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 1 ปี
  2. ห้ามเปิดเผยข้อมูลลูกหนี้ให้ผู้อื่น ถ้าฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 1 ปี
  3. ห้ามทวงหนี้ผ่านไปรษณีย์หรือโทรสาร ในแบบที่มีข้อความทวงหนี้ชัดเจน หากไม่ปฏิบัติตามปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 1 ปี
  4. ห้ามระบุข้อความ ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงหนี้ หรือเครื่องหมายบนซองจดหมาย หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 1 ปี
  5. ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ หรือทำให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สิน ถ้าฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจําทั้งปรับ

ห้ามทวงหนี้แบบหลอกให้เข้าใจผิด

  • ส่งเอกสารทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล เช่น ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ผู้ฝ่าฝืนจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  • ทำให้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Notice) จากทนายความ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  • ใช้เอกสารที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดทรัพย์ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  • แอบอ้างว่าเป็นการทวงหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิตใด ๆ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

การทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม ห้ามปฏิบัติดังนี้

  • เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่กำหนด
  • เสนอให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็ค ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

คณะกรรมการกํากับการทวงถามหนี้ 

มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทวงหนี้ของผู้ทวงถามหนี้ โดยหากลูกหนี้หรือคนอื่น ๆ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายจากผู้ทวงถามหนี้ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกํากับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด

ให้ที่ทำการปกครอง หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล 

มีอำนาจรับร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ติดตามพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้

ทวงหนี้ 1 ครั้ง นับอย่างไร

เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ให้เจ้าหนี้สามารถทวงถามหนี้ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง โดยที่ลูกหนี้ต้องรับทราบการทวงถามหนี้ด้วย ดังนั้นจะนับเป็นการทวงหนี้ 1 ครั้งหรือไม่ พิจารณาดังนี้

นับเป็นการทวงถามหนี้ 1 ครั้ง

  • โทรศัพท์ไปหาลูกหนี้และทวงหนี้อย่างชัดเจน
  • ส่งข้อความทางไลน์ และมีการเปิดอ่าน แม้จะไม่ได้ตอบกลับข้อความก็ตาม

ไม่นับเป็นการทวงถามหนี้ 1 ครั้ง

  • โทรศัพท์ไปหาลูกหนี้ แต่ลูกหนี้ยังไม่รับโทรศัพท์
  • โทรศัพท์ไปหาลูกหนี้ ลูกหนี้รับโทรศัพท์แล้ว แต่วางสายก่อนจะพูดคุยเรื่องโทร ถามหนี้
  • ส่งข้อความทางไลน์ แต่ลูกหนี้ยังไม่ได้เปิดอ่าน

(อ้างอิงรายละเอียดจาก พ.ร.บ. ทวงหนี้ 2558 อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563)

เงินขาดมือบ่อยเพราะอะไร?

ใครที่มักจะเกิดเรื่องต้องเสียเงินเสียทอง หรือไม่ก็ทำเงินหายเงินขาด มีเรื่องต้องใช้จ่ายตลอด หนึ่งในสาเหตุนี้ทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า อาจจะเป็นเพราะ “กรรมเก่า” ก็ได้เช่นกัน เนื่องจากในชาติก่อน ๆ เราอาจเคยทำกรรมเรื่องเงินทองกับผู้อื่นมา ดังนั้นเราจึงต้องใช้กรรมที่ก่อไว้

วิธีเรียกเงินทำยังไงได้บ้าง?

ทราบมั้ยว่าแต่ละราศีก็มี วิธีเรียกเงิน 12 ราศี ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละอุปนิสัยของตน เช่น คนเกิดราศีสิงห์ ต้องหาโอกาสไปไหว้พระเสาร์ หรือไหว้พระพุทธรูปปางนาคปรก โดยเฉพาะถ้าได้ไปไหว้พ่อปู่ศรีสุทโธจะช่วยให้มีโชคลาภปังมาก ๆ ดึงดูดเงินเข้ามาได้โดยเร็ว

คาถาเสกเงินท่องยังไง?

คาถาเงินล้าน สวดแล้วรวยสามารถท่องได้หลายคาถา เช่น คาถาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง หรือคาถาของหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก วัดตะโก ทั้งสองเกจิอาจารย์นี้ถือเป็นสุดยอดเกจิอาจารย์ที่โดดเด่นเรื่องพุทธคุณด้านโชคลาภเงินทองอย่างยิ่ง เข้าไปอ่านคาถากันได้ที่ลิงค์เลย

สรุป

อย่ารู้สึกผิดกับการทวงเงินที่เป็นของคุณ และคุณมีสิทธิ์ที่จะเรียกเงินคืนทุกประการ จำไว้ว่าให้ใจเย็นและอย่าโกรธ การเป็นคนหนักแน่นแต่สุภาพจะช่วยให้คุณได้รับเงินคืนได้ง่ายขึ้น เพราะการปกป้องและท้วงสิทธิ์ในบางเรื่องอาจดูยุ่งยากและต้องใช้ความกล้ามากไปสักหน่อย แต่เชื่อเถอะว่าดีกว่าปล่อยไปเฉย ๆ แน่นอน 

สุดท้าย Ruay ขอบอกว่า วิธีทวงเงิน ที่ดีที่สุดก็คือ การไม่ให้ยืมตั้งแรก เพราะสัจธรรมของโลกมนุษย์ใบนี้เคยกล่าวไว้ข้อนึงว่า “รักใคร อย่าให้ยืมเงิน” ถ้าไม่อยากเสียมิตรภาพเพราะเรื่องเงิน เสียเวลาต้องมาขึ้นโรงขึ้นศาลก็ตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลมดีที่สุด แต่หากใครเคยใจอ่อนให้ยืมไปแล้วไม่ได้คืน ก็คิดซะว่าเราเสียเงินเพื่อคัดกรองคนแย่ ๆ ให้หายไปจากชีวิตได้นั่นเอง

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก google

บทความแนะนำ

Facebook
Twitter
Email