วัดประจำรัชกาล ที่ 1 – 10 ไหว้พระ เสริมดวงชะตา รอบเมืองกรุง

สำหรับราชวงศ์จักรีของไทย จะมี วัดประจำรัชกาล กันทุกระองค์ โดยจะเริ่มมีการสร้างวัดประจำรัชกาลมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา จนมาถึงปัจจุบัน คือ รัชกาลที่ 10 ถือทุกพระองค์เป็น องค์อัครราชูปถัมภก หรือ มรดกวัฒนธรรมไทย ทางด้านพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ตาม Ruay มาดูเลยว่า วัดของแต่ละรัชกาลอยู่ไหนกันบ้าง

รวมพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 - 10
ขอบคุณภาพจาก Campus Star

วัดประจำรัชกาล ที่ 1 – 10

วัดประจำรัชกาลที่ 1: วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ท่าเตียน เป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และยังถือเป็น มหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย เป็นสถานที่รวบรวมจารึก วิชาต่างๆ เอาไว้ และยังได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในปี พ.ศ. 2551 จากทางยูเนสโก้อีกด้วย

นอกจากนี้ วัดโพธิ์ท่าเตียน ยังถือเป็นหนึ่งในวัดที่เก่าแก่ที่สุดของไทยอีกด้วย มีพระนอนที่ใหญ่ที่สุดด้วยความยาวกว่า 150 ฟุต นั่นคือ พระไสยาส หรือ พระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีลักษณะพิเศษ คือ มีประดับมุกภาพมงคล 108 ประการที่พระบาท

วัดโพธิ์ท่าเตียน
ขอบคุณภาพจาก Thai PBS
  • การเดินทาง

MRT: สถานีสนามไชย

รถโดยสารประจำทาง : 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, 44, 47, 48, 53, 82

เรือโดยสาร : สถานี ท่าช้าง / ท่าเตียน / ท่าปากคลองตลาด

วัดประจำรัชกาลที่ 2 : วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง เชื่อว่า สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีชื่อเดิมว่า วัดมะกอกนอก ในรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของ รัชกาลที่ 2 มาบรรจุที่พุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถ สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในวัด ก็คือ พระปรางค์ทรงจอมแห ที่มีขนาดใหญ่ ความสูง 81.85 เมตร นับจากฐานของพระปรางค์ ถือว่าเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและในโลกเลยก็ว่าได้

วัดอรุณ
ขอบคุณภาพจาก Pantip
  • การเดินทาง

MRT: สถานีอิสรภาพ

รถโดยสารประจำทาง : 19, 57, 83

เรือโดยสาร : เรือข้ามฟากจากสถานีท่าเตียน ไปยังวัดอรุณฯ

วัดประจำรัชกาลที่ 3 : วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

ในปี พ.ศ. 2363 พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึง วัดจอมทอง ฝั่งธนบุรี ทรงหยุดพักและทำ พิธีเบิกโขลนทวาร ตามตำราพิชัยสงคราม พร้อมอธิษฐานขอให้การรบครั้งนี้ได้รับชัยชนะ แต่กลับไม่มีทัพพม่ายกมาเลย เมื่อกลับมา จึงทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ และ ถวายแด่รัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นผู้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เพื่อเป็นเกียรติแก่พระราชโอรสซึ่งเป็นผู้บูรณะ

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
ขอบคุณภาพจาก ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
  • การเดินทาง

BTS: สถานีวงเวียนใหญ่ แล้วต่อรถโดยสารประจำทาง

รถโดยสารประจำทาง : 43, 120, 167

วัดประจำรัชกาลที่ 4 : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร หรือมักเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดราชประดิษฐ์ เป็นวัดสายธรรมยุตินิกาย โปรดให้สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เหล่าข้าราชการทั้งฝ่ายนอกและฝ่ายใน ได้มาทำบุญกันสะดวกขึ้น เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังและทรงพระราชทานนามว่าวัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

ภายในพระวิหารของวัด เป็นที่สถิตของพระประธาน “พระพุทธสิหิงคปฏิมากร” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้จำลองจาก พระพุทธสิหิงค์ องค์จริงที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

 วัดราชประดิษฐ์
ขอบคุณภาพจาก ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
  • การเดินทาง

MRT: สถานีสนามไชย

รถโดยสารประจำทาง : 1, 2, 60,152

วัดประจำรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 7 : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร คำว่า ‘ราชบพิตร’ หมายถึง สิ่งที่พระราชาทรงสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับพระอัครมเหสีพระราชเทวี และ เจ้าจอมพระสนมเอก ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้ ก็คือ เสมาของวัด ตั้งอยู่บนกำแพงรอบวัด 8 ด้าน เป็นการขยายเขตทำสังฆกรรมของสงฆ์ให้กว้างขึ้น

วัดประจำรัชกาล
ขอบคุณภาพจาก ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

วัดนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 เท่านั้น แต่ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 ด้วย เพราะในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 7 ไม่ได้มีการสร้างวัด แต่ท่านก็ได้ทำการทำนุบำรุงและบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธนี้ด้วย จึงถือเป็นวัดประจำพระองค์ด้วยเช่นกัน

  • การเดินทาง

MRT: สถานีสนามไชย

รถโดยสารประจำทาง : 2

วัดประจำรัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 9 : วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เรียกกันสั้นๆ ว่า วัดบวรฯ เดิมที เรียกว่า วัดใหม่ เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 รูปแบบการสร้างเป็นแบบไทยผสมจีน พระอารามนี้ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยด้วย

วัดประจำรัชกาล
ขอบคุณภาพจาก Bangkok temple on WordPress.com

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชได้เสด็จมาประทับ ได้มีการจัดตั้ งคณะสงฆ์ธรรมยุตติกนิกาย ขึ้นที่วัดแห่งนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดนี้ รวมไปถึง หลังสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้ทำการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร มาประดิษฐานที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ซึ่งถือเป็น วัดประจำรัชกาล ที่ 9 อีกด้วย

  • การเดินทาง

รถโดยสารประจำทาง : 5, 11, 12, 15, 38, 56, 68

วัดประจำรัชกาลที่ 8 : วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดประจำรัชกาล
ขอบคุณภาพจาก น้าชาติ ประชาชื่น

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสุทัศน์ มีการสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2350 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่บริบูรณ์เสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2390 และ พระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวราราม ด้านหน้ามี เสาชิงช้า ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่

ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) สิ่งที่โดดเด่น ที่ Ruay แนะนำ ก็คือ พระอุโบสถของวัดสุทัศน์ ถือเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีพระประธาน คือ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

  • การเดินทาง

รถโดยสารประจำทาง : 10, 12, 19, 35, 42

วัดประจำรัชกาลที่ 10 : วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร

วัดประจำรัชกาล
ขอบคุณภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์

วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร หรือ วัดทุ่งสาธิต สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2399 โดยคหบดีชาวลาว ชื่อ นายวันดี ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ หลังจากเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายมรณภาพ ก็ไม่มีใครสืบสานต่อ จนกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 ได้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่ให้สวยขึ้นกว่าเดิม

ในวันที่ 9 กันยายน 2508 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (รัชกาลที่ 10) ทรงรับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ พร้อมได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร ด้วย

  • การเดินทาง

BTS: สถานีปุณณวิถี แล้วต่อรถสองแถว

รถโดยสารประจำทาง : 45, 46, 507

วัดประจำรัชกาล
ขอบคุณภาพจาก Sanook

สรุป

ใครกำลังหาแพลนเที่ยวรอบเมืองกรุงฯ แอดมินขอแนะนำ ไหว้พระ วัดประจำราชกาล ที่ 1 – 10 เลย ไปชมความสวยงามและความเป็นเอกลักษณ์ของวัดแต่ละราชกาล แน่นอนว่า ขึ้นชื่อว่า เป็นวัดของพระราชาแล้ว การตกแต่ง การสร้าง จะต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ทั้งตัวสถาปัตยกรรม การก่อสร้าง รวมไปถึงนิกายของวัดต่างๆ ด้วย ที่มีความแตกต่างกันออกไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

Facebook
Twitter
Email