วิธี​ป้องกัน​น้ำท่วมเข้าบ้าน

พร้อมรับมือ! 10 วิธี​ป้องกัน​น้ำท่วมเข้าบ้าน​ ทำได้ไม่ยากได้ผลจริง

หากได้ติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ส่งผลกระทบจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส สุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียง ประชาชนและสัตว์ต่าง ๆ เดือดร้อนกว่าหลายหมื่นครัวเรือนจากฝนตกหนัก และดูเหมือนว่าสถานการณ์ระดับน้ำในพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของประเทศไทยที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมหนัก ฉะนั้นเราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิดแบบนี้ด้วย “วิธีป้องกันน้ำท่วมเข้าบ้าน”​ 

และเมื่อไม่นานมานี้ช่วงเดือนตุลาคม 63 Ruay เคยได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วมโคราชมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี และมีพื้นที่ประสบภัยกระจายตัวในทุกภาคของประเทศ ที่ส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน ทำให้เราพอทราบกันดีว่าภัยพิบัติธรรมชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัวอะไรเลย ซึ่งด้วยความเป็นห่วงพี่น้องชาวไทยทุกคน ในวันนี้ Ruay 365 จึงอยากมาแชร์ความรู้ถึง วิธี​ป้องกัน​น้ำท่วม ก่อนที่ของพังน้ำขังทั่วบ้าน ทำได้อย่างไรมาติดตามกัน

น้ำท่วมบ้านเกิดจากอะไรได้บ้าง

Flood

โดยปกติ ภาวะน้ำท่วมมักจะมาพร้อมกับฝนตกหนัก และการที่มีขยะหรือเศษใบไม้ไปอุดตันท่อระบายน้ำ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางการระบายน้ำ โดยเฉพาะในเขตเมืองที่ไม่มีทางเชื่อมโยงกับแหล่งระบายน้ำอื่น ๆ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังรอระบายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุ เช่น น้ำซึมเอ่อขึ้นมาจากท่อระบายน้ำ หรือบ้านชั้นล่างมีระดับต่ำกว่าถนน เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้ระบายน้ำไม่ทัน ดังนั้น หากทราบสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมบ้านแล้ว เราจะได้มีวิธีรับมือและป้องกันน้ำท่วมได้อย่างตรงจุด

10 วิธี​ป้องกัน​น้ำท่วมเข้าบ้าน​

น้ำท่วมแต่ละครั้งสร้างความเสียหายมากทีเดียว แต่สามารถป้องกันน้ำท่วมถนนเข้าบ้าน เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จาก 10 วิธีป้องกันน้ำท่วมเข้าบ้าน ที่ Ruay นำมาฝากกัน ได้ดังนี้

บ้านกันน้ำท่วม
ตัวอย่างบ้าน ป้องกันน้ำท่วม

ยกระดับพื้นบ้านให้สูงขึ้น

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบ้าน สิ่งแรกที่ต้องปรับเปลี่ยนคือการยกระดับพื้นให้สูงขึ้น โดยสามารถทำได้ด้วยการถมดินให้สูง หรือยกพื้นให้สูง อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ การปรับพื้นให้มีความลาดเอียงไปยังท่อระบายน้ำ เพราะหากพื้นที่บ้านต่ำกว่าท่อระบายน้ำ จะส่งผลให้น้ำไม่สามารถระบายลงท่อ และทำให้เกิดน้ำท่วมขังภายในบ้าน

สำหรับการแก้ปัญหายกระดับพื้นบ้านชั้นล่าง ให้มีความสูงเท่ากับระดับถนน เหมาะกับบ้านที่มีความสูงไม่ต่างกันประมาณครึ่งหนึ่ง-หนึ่งฟุตครึ่ง ส่วนในกรณีที่เป็นบ้านเดี่ยวแนะนำให้แก้ไขด้วยการดีดยกบ้านทั้งหลัง  แต่หากพื้นถนนสูงกว่าพื้นบ้านชั้นล่างครึ่งหนึ่ง ให้พิจารณาจากความสูงของบ้าน ถ้าต้องการยกพื้นให้สูงขึ้นเท่ากับถนน ต้องทำการทุบพื้นเก่าทิ้งเสียก่อน จากนั้นทำกานหล่อคานปูนเสริมจากคานให้สูงขึ้น และทำคานเหล็กยึดกับเสาบ้าน

ติดตั้งโครงเหล็กยกสูง

ถ้าพื้นบ้านชั้นล่างที่ต่ำกว่าถนนไม่มีปัญหาน้ำรั่วซึมจากพื้น แนะนำให้ทำโครงเหล็กสูง จากนั้นปูแผ่นซีเมนต์บอร์ด เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เดินท่อใต้พื้นดินได้ดี

กระสอบทราย

อุปกรณ์ป้องกันน้ำเข้าบ้านที่สามารถทำเองได้ เริ่มจากใส่ทรายลงในกระสอบประมาณครึ่งถุง มัดปากถุงให้แน่น จากนั้นวางกระสอบทรายในแนวนอนหรือขนานไปกับทางน้ำไหล โดยหันปากถุงเข้าหาพื้นที่แห้ง แล้วจัดเรียงชั้นกระสอบทรายเป็นทรงสามเหลี่ยมพีระมิด โดยทำฐานให้กว้างกว่าความสูง 3 เท่า และวางแนวกระสอบทรายห่างจากผนังบ้านหรืออาคารอย่างน้อย 2-5 เมตร เพื่อป้องกันโครงสร้างบ้านเสียหายและสังเกตรอยรั่วได้ง่าย 

ส่วนการป้องกันน้ำเข้าบ้านทางท่อระบายน้ำ ทำได้โดยหย่อนถุงทรายลงไปในท่อประมาณ 2 ถุง ทั้งนี้ควรเหลือหางเชือกไว้ยาว ๆ สำหรับดึงกระสอบขึ้น เสร็จแล้วขยำหนังสือพิมพ์เป็นก้อนกลมใส่ตามลงไปเพื่อให้ยุ่ยปิดการรั่วซึม แล้ววางทับด้วยกระสอบทรายอีกชั้น ก็ช่วยป้องกันน้ำเข้าบ้านเบื้องต้นได้

ถุงน้ำสร้างคันกั้นน้ำ

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผล ใช้วิธีเดียวกับการใช้กระสอบทราย โดยนำถุงดำชนิดเหนียวพิเศษใส่ซ้อนกัน 2 ใบหรือมากกว่า แล้วเติมน้ำลงไปจนเกือบเต็ม จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นด้วยเคเบิลไทร์ แล้วค่อยยกถุงน้ำไปวางเรียงเป็นทรงสามเหลี่ยมพีระมิด ทั้งนี้นำแผ่นไม้อัดมาวางคั่นระหว่างแถวด้วย 

เพื่อรักษาถุงน้ำให้อยู่ทรงและเสริมคันกั้นน้ำให้แข็งแรง สามารถรับแรงดันได้มากขึ้น เสริมให้แข็งแรง ไม่ล้มง่าย นอกจากนี้หากไม่มีอุปกรณ์สามารถนำขวดน้ำหรือถังน้ำมาใช้ทดแทนกัน แล้วคอยอุดรอยรั่วซึมให้ดี

ฟิวเจอร์บอร์ดกันน้ำไหลเข้าบ้าน

ใครจะไปคิดว่าแผ่นพลาสติกแข็งที่เราใช้ทำงาน มีความเหนียวที่สามารถนำมาใช้อุดช่องว่างประตูบ้าน หรือบริเวณรั้วที่น้ำซึมเข้าบ้านได้ โดยบริเวณกำแพงโปร่งที่มีช่องแสงเล็ก ๆ ให้นำฟิวเจอร์บอร์ดมาปิดช่องว่างบนผนังจากนอกบ้าน แล้วตอกตะปู ยิงซิลิโคน หรือปิดด้วยเทปกาวให้แน่น 

นำแผ่นพลาสติกหรือถุงดำมาคลุมแล้วปิดชายด้านบนด้วยเทปกาวให้แน่น โดยติดเหนือขอบแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดเล็กน้อย แล้วปล่อยชายแผ่นพลาสติกลาดไปกับพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร ก่อนนำอิฐหรือกระถางต้นไม้มาวางทับ เมื่อน้ำไหลมาก็จะเกิดแรงกดให้ถุงดำแนบไปกับพื้นและผนัง ช่วยป้องกันน้ำเข้าบ้านได้อีกทาง

แผงกั้นน้ำท่วม

การทำแผงกั้นน้ำท่วมสามารถทำได้ 2 วิธี 

  • วิธีแรกใช้สำหรับปิดฐานราก ช่องระบาย และหน้าต่าง เริ่มจากตัดแถบสักหลาดหรือแผ่นยางให้มีขนาดใหญ่กว่าช่องที่ต้องการจะอุดรอยรั่ว ประกบเข้ากับกรอบไม้ แล้วตอกตะปูติดให้แน่น 
  • วิธีที่สองสำหรับวิธีป้องกันน้ำเข้าทางประตูบ้าน ทำได้โดยตัดโฟมยางหรือแผ่นกาว เพื่อทำเป็นปะเก็นความกว้างเท่ากับวงกบประตูที่ต้องการจะติดตั้ง จากนั้นนำแผ่นไม้มาตอกปิดอีกชั้น แล้วยิงซิลิโคนอุดรอยรั่วก็เสร็จเรียบร้อย 

บานเหล็กกันน้ำท่วม

หากมีแผ่นเหล็กหรือบานประตูเหล็กก็นำมาใช้ได้เช่นกัน  เหมาะสำหรับประตูรั้วบ้าน โดยนำเสากลางติดตั้งกับรางประตู แล้วเชื่อมเข้ากับบานเหล็ก จากนั้นใช้ดินน้ำมันหรือยิงซิลิโคนอุดรอยรั่วป้องกันน้ำซึม แล้วค่อยติดตั้งเสาค้ำยันเสริมความแข็งแรง ส่วนการติดตั้งวัสดุผนังสำเร็จรูป เช่น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด ก็ทำได้เช่นกันโดยขึ้นโครงเหล็กพับแล้วติดตั้งวัสดุที่จะใช้ลงไป อุดรอยต่อด้วยวัสดุยาแนว พร้อมกับใช้ผ้าใบหรือแผ่นพลาสติกคลุมอีกชั้นป้องกันน้ำซึม

ก่ออิฐกันน้ำ

การก่ออิฐกันน้ำทำได้โดยวางอิฐบล็อกแนวสลับแบบเดียวกับการวางกระสอบทราย นำแผ่นพลาสติกหรือผ้าใบคลุมด้านหน้าของกำแพง ปิดเทปกาวและวางก้อนอิฐที่เหลือทับชายด้านบน แล้วนำถุงทรายวางทับชายด้านล่างเอาไว้ ทั้งนี้วิธีดังกล่าวเหมาะสำหรับป้องกันน้ำเข้าบ้านได้เบื้องต้น โดยควรสร้างห่างจากตัวบ้านและไม่ควรก่ออิฐบล็อกเกิน 30 เซนติเมตร เพราะหากมีความสูงมากกว่านี้อาจจะสร้างความเสียหายกับโครงสร้างบ้านได้

สร้างขอบคันกั้นน้ำ

วิธีที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำไหลเข้าบ้านอีกหนึ่งวิธี คือ การทำขอบคันกั้นน้ำ และขุดบ่อดักไว้ จากนั้นใช้ปั๊มสูบน้ำให้ออกไปข้างนอก ส่วนกรณีที่น้ำไหลย้อนมาทางท่อระบายน้ำ แนะนำให้อุดปิดบริเวณปากท่อ รวมถึงต่อขอบบ่อพักให้สูงขึ้น อีกทั้งการติดตั้งปั๊มจุ่มก็มีส่วยช่วยสูบน้ำออกป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังภายในบ้านได้ดีเช่นกัน

การป้องกันน้ำขังสำหรับบ้านเก่า

แนะนำให้ใช้ถังบำบัดแทนบ่อเกรอะซึมบ่อ เพราะถ้าปริมาณน้ำในดินมีมาก จะทำให้ระบายน้ำทิ้งไม่สะดวก อีกทั้งในช่วงหน้าฝนจะมีน้ำในดินค่อนข้างเยอะรอบๆ บ่อซึม ทำให้ปริมาณน้ำในบ่อสูง ส่งผลให้รับน้ำที่ชำระในโถสุขภัณฑ์ได้น้อย มีส่วนทำให้ระบายน้ำได้ช้า และมีปัญหาตามมาภายหลัง

อย่าลืม!! สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับวิธีวิธี​ป้องกัน​น้ำท่วมเข้าบ้าน คือ การตรวจเช็คท่อระบายน้ำว่ามีสิ่งอุดตันหรือไม่ เพราะหากมีเศษใบไม้ หรือเศษขยะอุดตัน ก็เป็นต้นเหตุทำให้เกิดน้ำขังภายในบ้านเช่นกัน นอกจากนี้ควรตรวจสอบว่าภายในบ้านมีมีจุดไหนที่เกิดรอยรั่วซึมหรือไม่ เพื่อที่จะได้ทำการแก้ไขอย่างทันท่วงที ไม่เกิดปัญหาใหญ่ทีต้องเสียเงินบานปลายตามมาภายหลัง

วิธีดูแลรักษาเมื่อน้ำท่วมบ้าน

น้ำท่วมบ้าน

ความเสียหายจากน้ำท่วมบ้านหลังจากน้ำลด เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการ ทั้งการซ่อมแซม การวางแผนป้องกัน รวมถึงการดูแลรักษา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมบ้านอีกครั้ง โดยสิ่งที่ต้องทำหลังจากน้ำท่วมบ้าน ได้แก่

ตรวจเช็คระบบไฟฟ้า

อันตรายที่มาพร้อมกับน้ำท่วมคือ ไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าดูด จำเป็นต้องให้ช่างมาตรวจสอบ หรือหากพบว่าระบบไฟฟ้า เช่น เบรกเกอร์ยังเปิดใช้งานอยู่ ให้รีบปิดระบบไฟฟ้าทันทีด้วยความระมัดระวัง พร้อมกับใส่ถุงมือหรือผ้าแห้งเพื่อป้องกันไฟดูด อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกน้ำท่วม หากไฟฟ้าไม่ลัดวงจร ก็อาจจะซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้ ทางที่ดีแนะนำให้ผู้ที่ความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าโดยเฉพาะมาทำดีกว่าทำเอง

เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ ห้ามนำไปตากแดด

สำหรับบ้านไหนที่มีประตูและของข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากไม้ที่ถูกน้ำท่วม อาจมีอาการบวม พอง ห้ามนำไปตากแดด เพราะจะทำให้รูปทรงโก่ง หรือยืดงอได้ ควรทำแค่ผึ่งลมในที่ร่มจนกว่าจะแห้งสนิท

ไม่ต้องรีบทาสีใหม่

น้ำท่วมจะทิ้งรอยสกปรกและคราบต่าง ๆ รวมทั้งความชื้นไว้ อาจจะดูไม่สวยงามขัดหูขัดตา แต่ก็ปล่อยทิ้งไว้แบบนั้นก่อน เพราะพื้นผนังที่สะสมความชื้นไว้ หากทาสีใหม่ทับทั้งที่ยังไม่แห้งสนิท ไม่นานก็จะหลุดร่อนออกมา ทำให้สิ้นเปลือง ควรทำความสะอาดแล้วปล่อยทิ้งไว้ 2-3 เดือน แล้วค่อยทาสีใหม่

ระวังสัตว์มีพิษ

หลังน้ำลดใหม่ ๆ การเข้าตรวจตราข้าวของเครื่องใช้ ซอกมุม จุดอับต่าง ๆ ในบ้าน ให้ระวังงูเข้าบ้าน หรือสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ มาหลบซุกซ่อนอยู่ หากไม่ระวังอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ 

ระวังฝ้าเพดานถล่ม

หากบ้านถูกน้ำท่วมสูง อาจทำให้ผนังหรือฝ้าเพดานได้รับผลกระทบ ฝ้าเพดานส่วนใหญ่ทำจากแผ่นยิบซั่มที่อมน้ำ หากมีการอมน้ำทำให้น้ำหนักมากหรือแอ่นตัว อาจจะหลุดร่วงลงมาจนเกิดอันตรายได้ ควรสังเกตร่องรอยให้ดี

สรุป

น้ำท่วมบ้าน ถือเป็นภัยจากธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีฝนตกชุก จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมได้ตลอดเวลา ก่อนที่โครงสร้างบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ก็จะได้รับความเสียหาย และเพื่อลดความเสี่ยงไฟฟ้ารั่ว อันตรายและผลกระทบที่เกิดจากภัยน้ำท่วมต่าง ๆ ทุกบ้านจึงจำเป็นต้องมีแผนรับมือ ทางที่ดีที่สุดควรวางแผนเตรียมรับมือปัญหาน้ำท่วมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ 

หวังว่า 10 วิธีป้องกันน้ำท่วมเข้าบ้าน และ วิธีดูแลรักษาเมื่อน้ำท่วมบ้าน ที่เราได้นำเสนอไป จะเป็นประโยชน์ที่จะช่วยทุกคนสามารถรับมือ และป้องกันความเสียหายได้ทันท่วงที สุดท้ายนี้ทางเรา Ruay ก็ขอส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวไทยทุกคนที่กำลังประสบปัญน้ำท่วม ให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้อย่างปลอดภัย

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

Facebook
Twitter
Email