ห้ามเหยียบธรณีประตู

ห้ามเหยียบธรณีประตู คำเตือนของคนโบราณ ที่ยังคงขลังถึงปัจจุบัน

เพราะเหตุใดทำไมโบราณท่านว่า ห้ามเหยียบธรณีประตู ? เดิม ธรณีประตู คือ ท่อนไม้อยู่สูงขึ้นมาจากพื้นเกือบศอก เป็นไม้ที่รองรับกรอบล่างของประตู และมีรูสำหรับลงกลอน เพื่อกั้นประตูไม่ให้ผลักออกได้ หรือกรณีที่พื้นนอกบ้านเท่ากับพื้นในบ้าน ควรทำธรณีประตูเพื่อกั้นฝุ่น กั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้ามาในบ้าน 

Door
ธรณีประตูบ้านในสมัยโบราณ

เมื่อเราต้องเดินผ่านไปผ่านมาเป็นประจำ ทำให้มีเรื่องเล่ามากมาย และขนาดของประตูก็แตกต่างกันออกไป แต่ว่าที่เชื่อเหมือนกัน เนื่องจากมีคำโบราณกล่าวเอาไว้ว่า ให้ใส่ใจเวลาที่จะเดินเข้า-ออกประตู เพราะมีส่วนสำคัญที่ห้ามเหยียบ คือ ธรณีประตู 

สำหรับข้อห้ามโบราณที่กลายเป็นความจดจำที่ถูกฝังมาพร้อมกับความเชื่อในสมัยโบราณนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร Ruay365.com หาคำตอบมาให้แล้ว

ความเชื่อเรื่อง “ธรณีประตู” ทำไมถึงห้ามเหยียบ

ห้ามเหยียบธรณีประตู เพราะมี “เจ้าแม่ธรณี” สิงสถิตอยู่

“ธรณีประตู” ในบ้านหรือวัด โบสถ์ ตามธรรมเนียมไทยนั้น ถือว่าเป็นที่สิงสถิตของ “เจ้าแม่ธรณี” หรือเทพีแห่งพื้นแผ่นดิน ที่มีหน้าที่คอยปกปักษ์รักษาอยู่ หากเหยียบย่ำ ขย่ม กระแทกธรณีประตูบ่อยครั้ง โบราณเชื่อว่า ผู้นั้นจะถูกธรณีสูบหรือถูกแผ่นดินสูบลงไป จนกระทั่งตายอยู่ใต้ดิน

นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องธรณีประตู ยังได้ถูกถ่ายทอดในนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่กล่าวถึงความเชื่อนี้ไว้ตอนที่แม่พาพลอยเข้าวังเป็นครั้งแรกว่า ที่ประตูวังชั้นในมีหญิงแก่บ้างสาวบ้าง เรียกว่า โขลน ทำหน้าที่เฝ้าประตูวัง 

4 Lands Book
นิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ใครที่ก้าวข้ามไม่พ้น เผลอเหยียบธรณีประตู จะต้องถูกตีหรือต้องย้อนกลับไปกราบขอขมาธรณีประตูนั้น เพราะเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตคุ้มครองอยู่ ดั่งเห็นแผ่นทองปิดอยู่ทั่วไปตามธรณีประตู โดยมีบทบรรยายว่า

“ธรณีประตูนั้นทำด้วยไม้เหลี่ยมค่อนข้างใหญ่ มีรอยคนมาปิดทองไว้บ้างเป็นระยะ ๆ

และใกล้ ๆ ขอบประตูนั้นก็มีธูปปักอยู่ที่ริมขอบประตู”

สะท้อนให้เห็นวิถีขนบธรรมเนียมต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีความเชื่อเรื่องความเคารพธรณีประตูมาอย่างยาวนาน แต่ไม่มีที่มาแน่ชัดว่าความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยใด สันนิษฐานว่ามาจาก การเคารพ “พระภูมิ 9 องค์” ที่มักสถิต ณ เคหะสถาน บ้านเรือน วัดวาอาราม คลอง ไร่นา และหนึ่งในนั้นคือ ประตู ซึ่งทุกสถานที่ในสมัยโบราณต่างปรากฎธรรมเนียนนี้เช่นเดียวกัน

ห้ามเหยียบธรณีประตู ความเชื่อแฝงไว้ซึ่งกลอุบาย

แต่อีกนัยหนึ่งของความเชื่อ ห้ามเหยียบธรณีประตู นั้นเป็นเพียง “กุศโลบายให้รักษาสติ” เพราะอยากให้ทุกคนเดินเข้า-ออกประตูอย่างระมัดระวัง เนื่องจากบางที่ธรณีประตูไม่เท่ากัน มีโอกาสมากที่จะสะดุดธรณีประตู ทำให้หกล้มเกิดการบาดเจ็บได้ และเป็นการป้องกันไม่ให้ธรณีประตูสึกหรอ ชำรุดทรุดโทรม ทำให้เสียเวลา เสียเงินเสียทองต้องมาซ่อมแซมใหม่อีก

เพราะความเชื่อโบราณเป็นสิ่งที่คนสมัยก่อนนิยมทำกันต่อ ๆ มาจนกลายเป็นความเชื่อหรือข้อห้าม ทำให้เราเกือบทุกคนต้องเคยโดนผู้ใหญ่ทักว่าห้ามทำนู่น ทำนี่ในบ้านเป็นประจำ เราไปดูกันว่านอกจากข้อห้าม ห้ามเหยียบธรณีประตู ยังมีอะไรอีกบ้าง ที่เป็นความเชื่อแฝงไว้ซึ่งกลอุบาย ที่ยังคงได้ยินกันอยู่ในปัจจุบัน

ข้อห้ามเรื่องบ้าน ตามความเชื่อโบราณ

ห้ามกวาดบ้านตอนกลางคืน

ความเชื่อโบราณที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า การกวาดบ้านตอนกลางคืนจะเป็นการกวาดเงินกวาดทองออกไปจากบ้าน ซึ่งแท้จริงแล้วบ้านสมัยก่อนนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อีกทั้งบ้านสมัยก่อนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง และพื้นบ้านก็ปูด้วยไม้ทำให้มีร่องเล็ก ๆ ระหว่างรอยต่อ หากกวาดบ้านตอนกลางคืนก็อาจจะเผลอกวาดของชิ้นเล็ก ๆ ตกลงไปใต้ถุนบ้านและหาไม่เจอ เพราะของไปกองรวมกับขยะนั่นเอง

ห้ามตากผ้าข้ามคืน

เพราะเชื่อว่ากระสือจะเอาไปเช็ดปาก โดยจริง ๆ แล้วการห้ามตากผ้าข้ามคืนเป็นวิธีการถนอมเสื้อผ้า เนื่องจากหากตากผ้าตอนกลางคืนนั้น นอกจากจะเสี่ยงต่อการโดนขโมยแล้ว ก็อาจทำให้เสื้อผ้าที่เพิ่งซักเสร็จเปียกฝนหรือเปียกน้ำค้าง ที่สำคัญอาจจะมีสัตว์หรือแมลงมีพิษมาเกาะตามเสื้อผ้า ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายเมื่อคนในบ้านนำเสื้อมาสวมใส่ด้วย

ห้ามทำให้ครัวสกปรก

คนโบราณมีความเชื่อว่า ห้ามปล่อยให้ห้องครัวสกปรกเด็ดขาด เพราะจะทำให้อับโชค ซึ่งความจริงแล้วหากปล่อยปละละเลยทำให้ห้องครัวสกปรก ก็จะทำให้มีเชื้อโรคหลายชนิดสะสมปนไปกับอาหารและทำให้คนในบ้านเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น

ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก

มีความเชื่อกันว่าห้ามหันหัวนอนไปทางทิศตะวันตก เนื่องจากเป็นทิศของคนตาย จะทำให้ฝันร้ายและหลับไม่สนิท ซึ่งจริง ๆ แล้วปกติผนังฝั่งทิศตะวันตกจะเป็นฝั่งที่รับแสงแดดตอนบ่ายจึงเก็บความร้อนไว้เต็ม ๆ เมื่อตกกลางคืนผนังก็จะคายความร้อนออกมา หากหันหัวเตียงเข้าหาผนังบ้านด้านทิศตะวันตกก็ทำให้นอนไม่หลับเพราะรู้สึกไม่สบายตัวนั่นเอง

ห้ามปลูกต้นไม้ที่มาจากวัด

เนื่องจากต้นไม้ในวัดถือเป็นของสูง หากใครนำมาปลูกที่บ้าน อาจจะทำให้ชีวิตตกอับ ซึ่งจริง ๆ แล้วการเคลื่อนย้ายต้นไม้ค่อนข้างยุ่งยากและอาจจะทำให้รากต้นไม้เกิดความเสียหายได้ คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยนิยมนำต้นไม้จากวัดมาปลูกกันที่บ้าน อีกทั้งยังเป็นกลอุบายเตือนใจอย่างหนึ่งว่า เราไม่ควรนำของส่วนรวมมาเป็นของตัวเองอีกด้วย

ห้ามนั่งบนบันได

หากนั่งบนบันไดจะทำให้คนในบ้านเจอเรื่องร้ายหรือมีความทุกข์ เบื้องหลังกลอุบายนี้ก็มีไว้เพื่อเตือนไม่ให้เด็ก ๆ นั่งบนบันได เพราะกีดขวางทางเดินของคนอื่น และอาจทำให้คนที่เดินสวนไป-มาสะดุดหกล้มตกบันไดได้ เนื่องจากบันไดบ้านสมัยโบราณอยู่นอกบ้าน และมีราวจับเพียงด้านเดียวหรือบางบ้านก็ไม่มีราวจับเลยนั่นเอง

ห้ามเดินข้ามขั้นบันได

เพราะว่ากันว่าหากเดินข้ามขั้นบันไดจะทำให้ทำมาหากินลำบาก ค้าขายไม่ขึ้น ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ซึ่งจริง ๆ แล้วความเชื่อนี้ไม่ได้แค่เอาไว้เตือนเท่านั้น แต่เป็นคำสอนที่แฝงคติไว้ด้วยว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำเกินความสามารถ และเป็นการสอนให้รู้จักคิดทำเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ทำอะไรข้ามขั้นตอน เหมือนกับการเดินขึ้น-ลงบันได ให้ก้าวทีละขั้น เพราะหากก้าวข้ามก็อาจพลาดตกลงมา

ห้ามปลูกต้นลั่นทมในบ้าน

เนื่องจากชื่อของ “ต้นลั่นทม” ออกเสียงคล้ายกับคำว่า “ระทม” ที่แปลว่าความทุกข์ เลยเชื่อกันว่าหากบ้านไหนปลูกต้นลั่นทนก็จะนำสิ่งไม่ดีมาให้ตามชื่อ ซึ่งแท้จริงแล้วลั่นทมเป็นต้นไม้มียางที่เป็นพิษและมักจะมีบุ้งมาอาศัยอยู่มาก หากปลูกไว้ในบ้านอาจเป็นอันตรายได้ แต่ในปัจจุบันต้นไม้ชนิดนี้มีการนำมาจัดสวนกันอย่างแพร่หลาย และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ลีลาวดี” แล้ว

สรุป

คำเตือนของคนโบราณเรื่อง ห้ามเหยียบธรณีประตู นั้น คือ การทำความเคารพต่อ เจ้าแม่ธรณีที่เป็นความเชื่อที่แฝงไว้ซึ่งกลอุบาย เพื่อหลอกล่อไม่ให้ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาเกิดอันตราย สะดุดล้ม เนื่องจากธรณีประตูในสมัยก่อนมีลักษณะสูงขึ้นมาจากพื้นเกือบศอกนั่นเอง

มากไปกว่านั้นตามหลักฮวงจุ้ย ยังถือว่า ธรณีประตู เป็นจุดกักทรัพย์ไม่ให้ไหลออกนอกบ้าน บ้านที่อยู่อาศัยของเราควรทำธรณีประตูเอาไว้ที่ประตูหน้าบ้าน และหลังบ้าน เพื่อกักเก็บพลังปราณที่ดีเอาไว้ ไม่ให้ไหลผ่านบ้านไปได้ง่าย โดยอิงมาจากบ้านในสมัยก่อน นิยมทำธรณีประตูเอาไว้หน้าประตูบ้าน เพื่อบ่งบอกถึงอาณาเขตความเป็นสัดเป็นส่วน ระหว่างนอกบ้านและในบ้าน

ถึงแม้เรื่องราวนี้จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ความเชื่อดังกล่าวก็ยังคงถูกเล่าขาน และถ่ายทอดมายังปัจจุบัน สังเกตได้จากประตูบ้านสมัยนี้จะไม่มีธรณีประตูตามบ้านสมัยก่อน เนื่องจากคำนึงในด้านความปลอดภัยของคนในบ้าน หรือคนสูงอายุอาจจะสะดุดและทำให้เกิดอันตรายได้ ส่วนธรณีประตูแบบดั้งเดิมนั้น เราจะสามารถเห็นได้ตามวัดต่าง ๆ อยู่บ้าง

Facebook
Twitter
Email