วิธีบูชา เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย เทพแห่งเงินทองโชคลาภ ทำตามนี้มีแต่รวยรวยรวย

ถ้าหากจะพูดถึงเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพกราบไหว้ก็จะมีหลายองค์ด้วยกัน แต่วันนี้ Ruay 365 จะขอกล่าวถึง เทพเจ้าแห่งโชคลาภที่ชาวจีนนิยมกราบไหว้มากที่สุดนั่นก็คือ เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี๊ย เนื่องจากเป็นเทพเจ้าองค์แรก ๆ ที่ชาวจีนนิยมเซ่นไหว้ ด้วยพลานุภาพดลบันดาลในการให้โชคลาภและความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ผู้เซ่นไหว้ จึงถูกยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือเทพเจ้าแห่งเงินตรา

เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี๊ย

โดยตามความเชื่อนั้น เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี๊ย สามารถจัดแบ่งได้ 3 ปาง ดังนี้

  • เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี๊ยปางมหาเศรษฐี ชัมภล เป็นปางที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด
  • เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี๊ยปางบู๊ ทรงเครื่องนักรบโบราณมีเสือประทับอยู่ด้วย
  • เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี๊ยปางบุ๋น ทรงเครื่องขุนนางจีน อาจจะมี คฑายู่อี่ และ ถือก้อนเงินจีนโบราณ

ในที่นี้จะกล่าวถึงปางที่เป็นที่รู้จักและนิยมของคนทั่วไปนั่นคือ ไฉ่ซิ่งเอี๊ยปางบู๊ คือ จ้าวกงหมิง กับ ไฉ่ซิ่งเอี๊ยปางบุ๋น คือ ปี่กาน ซึ่งจะมีรูปลักษณ์และพลานุภาพที่แตกต่างกันแต่ก็ไม่มากเท่าไหร่นัก

ไฉ่ซิงเอี๊ยบุ๋น (ปี่กาน)

ประวัติ เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี๊ย บุ๋น

ตามตำนานว่ากันว่า ปี่กาน เคยเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ ได้จุติลงมาเกิดเป็นขุนนางตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของ พระเจ้าอินโจ้ว (กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์อิน) ซึ่งทรงลุ่มหลงในสุรา นารีไม่ใส่ใจราชการ มีสนมเอกชื่อโซวถังกี้

ปี่กาน พยายามเตือนให้ องค์จักรพรรดิหันมาสนใจราชกิจแต่ไม่เป็นผล ปี่กานจึงวางแผนจับสุนัขจิ้งจอกมาถลกหนัง มาทำเสื้อคลุมเหตุเพราะเชื่อว่าพระสนมเอกเป็นปีศาจจิ้งจอก เมื่อเห็นเสื้อคลุมจะต้องตกใจและหนีไป แต่เหตุการณ์ไม่เป็นตามนั้นพระสนมเอกไม่ตกใจแถมยังวางแผนเล่นงานปี่กานกลับอีกด้วย

ซึ่งวิธีกำขัดปี่กานของสนมเอกก็คือแกล้งว่าตัวเองป่วยเป็นโรคประหลาดรักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย มีหนทางเดียวที่จะหายได้นั่นก็คือนำหัวใจของปี่กานมาทำเป็นยารักษานั่นเอง เมื่อจักรพรรดิ์ซึ่งหลงใหลในตัวพระสนมเอกได้ยินดังนั้น ก็ได้เรียกให้ปี่กานเข้าพบ และเมื่อปี่กานมาถึงองค์จักรพรรดิได้ตรัสขอหัวใจปี่กานทันที ปี่กานซึ่งทราบถึงแผนกำจัดตนมาก่อนแล้ว จึงได้กินยาวิเศษที่ได้รับจากชายชรากันไว้ก่อนแล้ว ทำให้เขาไม่กลัวคำสั่งนั้น

จากนั้นเขาก็ร้องขอมีดสั้นจากเหล่าทหาร และลงมือควักหัวใจตัวเองและโยนมันออกมาบนพื้น ก่อนที่เขาจะเดินออกจากวังไป โดยตลอดการลงทันตัวเองตามคำสั่งของจักรพรรดิ์ว่ากันว่าไม่มีเลือดของปี่กานออกมาให้เห็นสักหยด นับแต่นั้นมา ปี่กาน เที่ยวออกไปตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วโปรยเงินแจกจ่ายแก่คนทั่วไปจนเป็นที่นับถือและบูชาในที่สุด

ตามตำนานว่าไว้เพราะปี่กานกินยาวิเศษของเจียงไท้กง จึงทำให้เป็นอมตะ และที่ปี่กานไม่มีหัวใจ จึงทำให้เขาโปรยเงินทองแก่คนทั่วไป โดยไม่เลือกว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ความทราบถึงองค์เง็กเซียน จึงให้เทพเจียงไท้กงแต่งตั้งให้ ปี่กาน เป็น เทพแห่งโชคลาภ หรือ เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บุ๋น

เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย

ลักษณะของเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย องค์บุ๋น

สวมชุดขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของจีนโบราณ สวมหมวกมีปีกออกไปสองข้าง มือซ้ายถือก้อนทอง (หยวนเป่า) มือขวามักจะถือแผ่นผ้าจารึกอักษรมงคล หรือคำอวยพรที่เป็นสิริมงคลแก่ผู้บูชา

อานุภาพของ ไฉ่ซิงเอี๊ย ปางบุ๋น

ดลบันดาลหรือช่วยเหลือให้ผู้บูชามีโชคลาภ ความมั่งคั่งร่ำรวย เป็นโชคลาภที่ไม่ใช่รายได้ประจำ (เงินเดือนหรือเงินค้าขายตามปกติ) ทำให้ผู้บูชาประสบความสำเร็จ ลูกค้าเชื่อถือ ผู้ควรบูชาเป็นพิเศษ นักการทูต นายหน้า คนค้าขาย ที่ต้องใช้วาจาหว่านล้อม เจรจาน่านับถือ

เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย บู๊ (จ้าวกงหมิง)

จ้าวกงหมิง

ประวัติ เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยบู๊

ตามตำนานว่ากันว่า จ้าวกงหมิง เป็นเซียนที่มีอิทฤทธิ์มากมาย แต่ไม่รู้ด้วยเหตุอันใดที่ทำให้เขากลับมีอาการเพี้ยน กลายเป็นนักพรตกังฉินที่เก่งและอำมหิต เขามีบริวารเป็นเสือดำที่ดุร้ายแถมยังมีของวิเศษอีกมากมาย ทำให้เทพเจียงไท้กงมิสามารถต่อกรได้

วันหนึ่งจ้าวกงหมิง ได้จับตัวเทพเจียงไท้กง แล้วบังคับให้เจียงไท้กงแต่งตั้งเขาเป็น “เทพแห่งโชคลาภ” ไม่เช่นนั้นเขาจะฆ่าเจียงไท้กงเสีย เจียงไท้กงจึงออกอุบายว่า หากจ้าวกงหมิงจะเป็นเทพแห่งโชคลาภได้อย่างไร ในเมื่อ ปี่กาน ยังดำรงตำแหน่งนี้อยู่

แต่มีอยู่ทางหนึ่งที่จ้าวกงหมิง จะได้เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภได้นั้นเขาต้องไปควัก “หัวใจ” ของปี่กานมา เขาถึงจะได้ดำรงตำแหน่งนี้แทน เมื่อได้ยินเช่นนั้นจ้าวกงหมิงจึงปล่อยเจียงไท้กงไป แล้วให้เสือดำบริวารไปฆ่าปี่กาน แต่เขาไม่รู้ว่าปี่กานไม่มีหัวใจ แต่ถึงแม้ว่าเสือดำจะไม่ได้หัวใจของปี่กาน แต่กรงเล็บที่ตะกุยลงไปที่อกของปีกานทำให้อวัยวะภายในของปี่กานสับสน ส่งผลให้ปี่กานกลายเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภที่ไม่ค่อยเที่ยงธรรมนัก

มักจะโปรยเงินทองอย่างลำเอียง เจอใครก่อนก็ให้คนนั้นก่อน และมักจะให้เยอะๆ คนที่ร่ำรวยอยู่แล้วก็ร่ำรวยขึ้นไปอีก สำหรับคนที่จนไม่สามารถที่จะหาเครื่องเซ่นไหว้ดี ๆ จึงทำให้ยังคงยากจนต่อไป

แต่ด้วยที่เทพเจียงไท้กง ได้ตกปากรับคำไว้กับจ้างกงหมิง จึงได้ประทานของวิเศษให้ 4 ชิ้น คือ เจียป้อ หนับเตียว เจียไช้ และหลี่ฉี้ ทั้งหมดนี้เป็นของวิเศษใช้เรียกเงินเรียกทองให้ไหลมาเทมาการค้าการขายราบรื่น ดังนั้นจึงทำให้ชาวจีนนิยมกราบไหว้ จ้าวกงหมิง เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภอีกองค์หนึ่ง

เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยบู๊

ลักษณะของเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บู๊

สวมชุดนักรบ ไว้หนวดเครารุงรัง มือถือแส้สีดำ มีเสือเป็นพาหนะ บางครั้งมีรูปทองแท่ง เงินหยวนเป่า และเพชรนิลจินดาของมีค่ามากมาย

อานุภาพของปางบู๊

ดลบันดาลเรื่องโชคลาภเงินทอง การค้าราบรื่น ช่วยในเรื่องของหนี้สิน คนที่เป็นเจ้าหนี้จะตามหนี้ได้ง่าย ลูกหนี้ไม่กล้าโกงหรือหนีหนี้ รวมถึงเจ้าของกิจการสามารถดูแล ควบคุมบริวาร ตลอดจนลูกจ้างให้อยู่ในระเบียบวินัย ขยันทำงาน

วิธีการตั้ง เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยบูชา

  • ให้ตั้งองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยให้องค์ท่านนั่งพิงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือด้านหลังพิงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
  • หากไม่สามารถตั้งตามทิศในข้อ 1 ได้ ก็ให้ตั้งบูชาตามความเหมาะสม แต่ต้องวางองค์เทพเจ้าให้ต่ำกว่าพระพุทธรูป
  • หากต้องการให้เก็บเงินอยู่ ไม่รั่วไหล และเรียกทรัพย์สินเข้ามาเพิ่ม ก็ให้ตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ที่เก็บเงิน ตู้เซฟ
  • หากต้องการให้ค้าขายดี ให้ตั้งไว้หน้าร้านค้า บนตู้ใส่สินค้า และที่ใส่เงิน เช่น ตะกร้า หรือลิ้นชัก
  • หากต้องการเสริมเรื่องสิริมงคล ป้องกันสิ่งชั่วร้าย เดินทางปลอดภัย ให้ตั้งบูชาที่หน้ารถ

วิธีบูชา เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยประจำวัน

  • น้ำเปล่า หรือน้ำชา 3 ถ้วยทุกวัน หรืออาจจะไหว้เฉพาะวันพระก็ได้
  • ถวายผลไม้ 5 ผล เช่น ส้ม 5 ลูก เป็นต้น หรือจะถวายพวงมาลัย หรือดอกไม้มงคลอื่นก็ได้
  • จุดธูปบูชา 8 ดอก
  • สวดคาถาบูชาขอพร

วิธีบูชาเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยในวันตรุษจีน

วิธีบูชาเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยในวันตรุษจีน

ชาวจีนจะเซ่นไหว้าเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี (ตรุษจีน) โดยส่วนใหญ่ช่วงเวลาไหว้จะอยู่ที่วันสิ้นปีเวลา 23.00 – 01.00 ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นก้าวสู่วันใหม่ ในเวลาและทิศทางที่ตั้งโต๊ะจะแตกต่างกันไปทุกปี ตามแต่จะได้จากโหราศาสตร์จีน นอกจากนี้ยังนิยมไหว้อีกสองวันคือ วันขึ้นสองค่ำเดือนอ้าย และวันที่22 เดือน7 ตามปฏิทินจีนของทุกปี

เครื่องสักการะบูชาเทพเจ้า ไฉ่ซิงเอี๊ย

  • รูปภาพหรือรูปองค์ปั้นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ
  • เทียนแดง 1 คู่
  • กระถางธูป
  • ธูป 5 ดอก
  • หลักฮะจี้ 3 ก้อน
  • กิมงิ่งเต้า 1 คู่
  • เทียงเถ่าจี้ 1 ชุด
  • ผลไม้ 5 อย่าง
  • สาคูแดงต้มสุก 5 ถ้วย
  • น้ำชา 5 ถ้วย
  • เจไฉ่ 5 อย่าง (เห็ดหอม, เห็ดหูหนู, ดอกไม้จีน, วุ้นเส้น, ฟองเต้าหู้)
  • เทียบเชิญสีแดง 1 แผ่น (อั่งเถียบ)

ในการจัดโต๊ะประกอบพิธี เมื่อจัดวางของทุกอย่างเรียบร้อย หันหน้าโต๊ะตามทิศที่กำหนดแต่ละปี ควรจัดให้เสร็จก่อนเวลาท่านเสด็จเล็กน้อย ให้ใช้กระดาษสีแดงเขียนชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิดของทุกคนในบ้าน จากนั้นจุดธูปเทียนบูชากล่าวอัญเชิญเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ด้วยความอ่อนน้อม ให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดเตรียมไว้ โดยกล่าวดังนี้

คำกล่าวบูชากล่าว อัญเชิญเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย

“วันนี้ข้าพเจ้า ชื่อ……………..นามสกุล…………………..(บอกกล่าว วันเดือนปีเกิดและเวลาเกิดของตัวท่านเอง) อาศัยอย่บ้านเลขที่……………….(สถานที่อยู่อาศัยหรือร้านค้า)

ขออัญเชิญเทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่ซิ้ง) เทพเจ้าอุปถัมภ์ (กุ้ยซิ้ง) และเทพเจ้าแห่งความปิติยินดี (ฮี่ซิ้ง) โปรดเสด็จมารับเครื่องเซ่นบูชาทั้งหลายเหล่านี้

เมื่อรับแล้วโปรดประทานพรให้ข้าพเจ้าและครอบครัวประสบแต่สรรพสิริมงคล อุดมโชคลาภ ขอโปรดอภิบาลรักษาให้ปราศจาคอันตรายทั้งปวง และสิ่งอัปมงคลทั้งหลายจงอย่าได้แผ้วพาน ขอจงประสบแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูลผล มีความก้าวหน้า สมปรารถนาด้วยมงคลทั้งปวง มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์และมีความสุขตลอดไปเทอญ”

จากนั้นจึงปักธูปลงกระถาง รอจนกว่าธูปจะหมด หรือบางแห่งให้ธูปเหลือติดก้านเล็กน้อยนำกลับเข้าไปในบ้านเพื่อให้ควันธูปอยู่ในบ้าน เสมือนกับเชิญเทพเจ้าเข้าบ้านเป็นสิริมงคล จากนั้นนำของที่ไหว้ที่เป็นกระดาษไปเผาไฟ

สรุป

คงจะพอทราบกันแล้วถึงวิธีการบูชา เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย กันแล้วทั้งแบบการบูชาประจำวัน และในเทศกาลตรุษจีน รวมถึงตำนานความเชื่อที่มาของเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ในการทำพิธีทุกครั้งหากทำด้วยความศรัทธาเชื่อมั่นแล้ว ประกอบกับตั้งอยู่ในความดีทั้งปวง จะทำให้เป็นผลช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งหวังอย่างแน่นอนจาก ruay

แต่ก็ต้องเสริมด้วยการทำบุญ รักษาศีล สวดมนต์ ภาวนากันด้วย และส่งบุญให้กับองค์เทพเจ้า เพราะสิ่งที่ทั้งเทพเจ้า เทวดาหลาย ๆ องค์ต้องการนั้นคือ บุญมากกว่าเครื่องสัการะ การทำบุญนอกจากจะช่วยส่งเสริมให้พบเจอแต่เรื่องดี ๆ แล้วยังทำให้เราเป็นที่รักของเทพเทวดาอีกด้วย

ภาพจาก หมอช้าง ทศพร ศรีตุลา

Facebook
Twitter
Email