วันสารทไทย

วันสารท​ไทย-บุญ​ข้าวสาก อีกหนึ่งประเพณีสำคัญของคนไทย

“วันสารทไทย” มีด้วยหรอ? เคยได้ยินแต่ “วันสารทจีน” นั่นไง! ผู้ใหญ่ถึงชอบบอกกันว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยใส่ใจกับพิธีการประเพณีไทยกันสักเท่าไหร่ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ผู้เขียนก็ไม่รู้จักเหมือนกัน ฮ่า ๆ เอาเป็นว่าค่อย ๆ มาทำความรู้จัก “เทศกาลงานบุญวันสารทไทย” นี้ไปพร้อม ๆ กับเราที่นี่ Ruay365

วันสารท​ไทย คืออะไร? มีความเป็นมาอย่างไร?

วันสารท​ไทย หรือ บุญ​ข้าวสาก คือ ประเพณีการทำบุญ ที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรตตามความเชื่อ นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี 

เทศกาลงานบุญ วันสารทไทย นี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศเนื่องจากศาสนาพราหมณ์ จากประเทศอินเดีย ถูกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)”

12 Months
หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ขอบคุณภาพจาก shopat24.com

สำหรับวันสารทไทยในปีนี้ (2563) ตรงกับวันที่ 17 กันยายน 2563 ถือเป็นการทำบุญกลางปีของไทย หรือเรียกกันว่า “เทศกาลงานบุญเดือนสิบ” มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงบอกว่าเป็นวันทำบุญกลางปี สาเหตุเนื่องจากช่วงสมัยก่อนเราถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ทำให้ช่วงเดือนสิบ หรือประมาณปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม จึงตกเป็นกลางปีพอดี

วันสารท​ไทย มีการจัดพิธีขึ้นเพื่ออะไร?

ด้วยความว่า วันสารทไทย เป็นวันทำบุญกลางปี ดังนั้นผู้คนจึงนิยมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนเป็นการเตือนใจตัวเองว่า ชีวิตได้ดำเนินผ่านมาถึงครึ่งปีแล้ว นอกจากนั้นก็มีจุดมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ ดังต่อไปนี้

Ghost 1 1
ผีเปรต

  • เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เพราะเชื่อกันว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติที่ได้รับส่วนบุญ มีโอกาสหมดกรรม และได้ไปเกิด หรือมีความสุข
  • เป็นการทำจิตใจของตนเองให้สะอาด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ 
  • เป็นสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
  • เป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เป็นเทพเจ้าแห่งข้าวตาม ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี (เนื่องจากคนไทยสมัยก่อนเป็นมีอาชีพเป็นเกษตรกรเป็นหลัก และในช่วงเดือน 10 นี้ เป็นช่วงที่ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยว จึงทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน)
  • อุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรตตาม โดยเชื่อกันว่าในวันนี้ ยมบาลจะปล่อยบรรดาผีเปรตให้กลับมาเยี่ยมลูกหลานเพื่อรับส่วนกุศลปีละครั้ง หากไม่มีใครทำบุญให้ ตอนเดินทางกลับก็จะอดอยาก และก็จะสาปแช่งลูกหลานในตระกูลที่เพิกเฉยไม่ทำบุญให้

วันสารท​ไทย มีกิจกรรมอะไรบ้าง? 

กิจกรรมหลัก ๆ ของวันสารทไทย คือ การจัดทำนำข้าวปลาอาหาร ไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการฟังธรรมเทศนา ถือศีล ปล่อยนกปล่อยปลา 

คล้ายกับการทำบุญที่เราทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่เป็นพิธีที่มีความเชื่อลึกซึ้งกว่า มีพิธีกรรม และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย ถึงอย่างไรก็ตามแม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่ล้วนแล้วมีจุดประสงค์เดียวกัน ตามที่ได้กล่าวไปเมื่อหัวข้อที่แล้ว

ภาคกลาง

Collage
ทำบุญตักบาตร กรวดน้ำ

เรียกว่า “สารทไทย” ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะนำข้าวปลาอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือ ขนมกระยาสารท ที่กวนกันเอง เพื่อนำไปตักบาตร และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ในวันสารท พร้อมทั้งทำบุญกรวดน้ำที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ และถือศีล ฟังธรรมเทศนา

ภาคเหนือ

เรียกว่า “งานทานสลากภัต” หรือ “ตานก๋วยสลาก” คำว่า “ก๋วย” แปลว่า ตะกร้า หรือชะลอม ส่วน “สลากภัต” หมายถึง อาหารที่ถวายพระเป็นเครื่องสังฆทาน โดยในช่วงวันนี้เป็นช่วงเวลาที่มีผลไม้สุกเป็นจำนวนมาก ชาวล้านนาจึงถือโอกาสนี้นำไปแจกจ่ายให้กับคนยากจน

Noth
ก๋วยสลาก

และจัดเตรียมข้าวของ ไม่ว่าจะเป็นของกิน หรือของใช้ต่าง ๆ เพื่อนำมาจัดใส่ก๋วยสลาก เตรียมไปทำบุญร่วมกัน โดยตามประเพณีของชาวล้านนา ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ด้วยใบตอง 

เมื่อเสร็จแล้วก็มัดด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็ก ๆ สำหรับเสียบสตางค์, กล่องไม้ขีดไฟ, บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอด ซึ่งก๋วยสลากจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาและฐานะ โดยก๋วยสลากมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

  • ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ
  • ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ บรรจุข้าวของได้เยอะกว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่มีฐานะดีจะจัดทำก๋วยสลากในลักษณะนี้ เพราะเชื่อว่าจะได้รับกุศลแรง

ภาคอีสาน

เรียกว่า “ทำบุญข้าวสาก” ข้าวสาก คือ ขนมที่ทำด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอกคลุกเคล้าเข้ากันกับน้ำตาล น้ำอ้อย ถั่ว งา มะพร้าว คล้าย ๆ กับขนมกระยาสารทของภาคกลาง โดยชาวบ้านจะเตรียมข้าวสาก ขนมและของคาวอื่น ๆ เพื่อเตรียมทำบุญ 

Boonkawsark
ทำบุญข้าวสาก ขอบคุณภาพจาก siamrath.co.th

ช่วงก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะเอาข้าวปลาอาหารที่มีอยู่ ไปส่งแก่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และผู้ที่นับถือแลกเปลี่ยนกันไปมา เรียกว่า ส่งเขาส่งเรา ส่วนข้าวสากหรือกระยาสารทนั้น จะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญ เรียกว่า ส่งข้าวสาก 

สำหรับ “ข้าวสาก” ที่จะนำไปแจกกันนั้น เมื่อห่อแล้วจะเย็บติดกันเป็นคู่ ๆ เอาไปห้อยไว้ตามต้นไม้ รั้วบ้าน เมื่อห้อยไว้แล้วก็ตีกลองหรือโปง เป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไป และปล่อยทิ้งไว้ช่วงหนึ่ง เพื่อกะเวลาให้เปรตมารับไป แล้วชาวบ้านก็แย่งกันชุลมุน ใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่น เรียกว่า แย่งเปรต 

และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เวลาเช้า ชาวบ้านก็จะเดินทางไปทำบุญตักบาตรกันที่วัด บางคนก็อยู่วัดรักษาศีล ฟังเทศน์ต่อ

ภาคใต้

เรียกว่า”งานบุญเดือนสิบ” หรือ “ประเพณีชิงเปรต” พี่น้องชาวใต้เชื่อกันว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากใครต้องตกนรกจะถือว่าเป็น “เปรต” และเชื่อกันว่าเปรตจะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 และจะทำบุญใน ช่วงเวลานี้

โดยการทำบุญของชาวไทยภาคใต้ มีชื่อเรียกอีก 4 อย่าง คือ

  • ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
  • ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความสัมพันธ์กับอินเดีย เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลาง
  • ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) จะถูกแยกออกเป็นอีก 2 อย่างคือ การยกหมรับ และการชิงเปรต

การยกหมรับ คือ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ ในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย

การชิงเปรต คือ ขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ จะจัดเอาอาหารคาวหวานอีกส่วนหนึ่งไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยมีขนม 5 อย่าง ได้แก่ ขนมพอง, ขนมลา, ขนมกง, ขนมดีซำ และขนมบ้า 

Ghost
งานชิงเปรต ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์

และมีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้ว ก็จะมีการแย่งอาหาร และขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต เชื่อว่าใครได้กินจะถือว่าได้รับกุศลแรงและเป็นสิริมงคล

  • ประเพณีทำบุญตายาย บางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ

วันสารทไทย กับ ขนมกระยาสารท ที่นิยมทำในเทศกาลงานบุญนี้

Krayasart
ขนมกระยาสารท

ขนมกระยาสารท เป็นขนมโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ทำจากถั่ว งา ข้าวคั่ว และน้ำตาล มักทำกันมากในช่วงสารทไทย แรม 15 ค่ำ ปลายเดือน 10 ซึ่งจากเรื่องราวและข้อมูลที่ได้กล่าวไป จะสังเกตเห็นได้ว่า ขนมกระยาสารท เป็นขนมประจำวันสารทไทยในทุกท้องถิ่นของประเทศไทยเลยทีเดียว

เพราะเชื่อกันว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น มากไปกว่านั้นขั้นตอนทำขนมกระยาสารท เป็นการกวนที่ต้องใช้เวลาและแรงคนจำนวนมาก ต้องอาศัยความสามัคคีกันของคนในครอบครัว หรือคนในชุมชนนั้น ๆ 

จึงคล้ายกับเป็นกุศโลบายในการสร้างความสามัคคีภายในครอบครัว การแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนบ้านอีกด้วย

สรุป

เรียกได้ว่า วันสารท​ไทย-บุญ​ข้าวสาก เป็นอีกประเพณีที่เก่าแก่ และมีสำคัญต่อคนไทยในทุกภูมิภาค มีจุดมุ่งหมายตามความเชื่อ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเปรต 

อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความสามัคคีให้แก่คนภายในครอบครัว รวมไปถึงการมีน้ำใจต่อกันระหว่างเพื่อนบ้าน ถือเป็นเทศกาลที่เสริมสิริมงคล ความอบอุ่น ความเอื้อเฟือให้แก่กันของคนในสังคม และมีความสนุกสนานควบคู่กันได้อย่างลงตัว

ดังนั้นเราคนรุ่นใหม่ อย่าลืมช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้ ไม่เพียงแต่วันสารทเท่านั้น แต่รวมถึงประเพณี ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมที่ดีงามต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานและเพื่อไม่ให้ความเป็นไทยสูญหายไปตามกาลเวลา

Facebook
Twitter
Email