เทศกาลวันไหว้พระจันทร์

เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ ต้องทำให้ถูกวิธี ช่วยพาชีวี รับโชคสุดปัง!

“ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า 
ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ 
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน 
ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป”
- วิสา คัญทัพ -
นักเขียนและนักกวี

#หยุดคุกคามประชาชน ที่เราเกริ่นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะพูดเข้าเรื่องการเมืองแต่อย่างใด ป๊าวว ป่าวนะ ป่าวเลย คุณพี่ดูออกหรอคะ ; ) ก็จริง ๆ ที่บอกแบบนี้ก็เพราะว่า การที่ประชาชนถูกคุกคาม ถูกกดขี่ข่มเหงนั้น มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับ “เทศกาล​ วันไหว้พระ​จันทร์ ” อีกด้วย 

“วันไหว้พระจันทร์ (ตงชิวโจย)” หรือ เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีน ที่มีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงที่พระจันทร์เปล่งแสงสวยงามที่สุด ถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญมากต่อชาวจีน หรือครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน รองเป็นอันดับที่ 2 ถัดมาจาก “เทศกาลวันตรุษจีน” 

เป็นประเพณีที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันปี โดยมีประวัติและตำนานเล่าขานเกี่ยวกับ วันไหว้พระจันทร์ ต่าง ๆ มากมาย เกิดขึ้นตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี ซึ่งในปี 2563 นี้ ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2563 

ตำนานเล่าขาน “วันไหว้พระจันทร์”

ตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์

วันไหว้พระจันทร์
เทพธิดาฉางเอ๋อ

มีเรื่องเล่าขานกันว่า มีเทพธิดาแห่งดวงจันทร์องค์หนึ่ง นามว่า “ฉางเอ๋อ” ซึ่งเป็นหญิงคนรักของ “โฮวอี้” นักยิงธนูแห่งสวรรค์ ที่ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ตกลงไปถึง 9 ดวงจากทั้งหมด 10 ดวง 

ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบัญชาสวรรค์ จึงโดนลงทัณฑ์ให้ไปใช้ชีวิตธรรมดาเช่นมนุษย์ทั่วไปบนโลกมนุษย์กับฉางเอ๋อ แต่โฮวอี้ลุอำนาจบาทใหญ่ ลุ่มหลงในสุรานารี ทำให้คนต่างพากันเกลียดชัง จนในที่สุดก็ถูกคนสนิททรยศฆ่าตาย ส่วนฉางเอ๋อดื่มน้ำอมฤตเพื่อที่จะมีชีวิตอมตะ แล้วเหาะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งตามลำพังด้วยความเศร้าสร้อย

ต่อมากษัตริย์ฮั่นเหวินตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น พระองค์ได้ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่า พระองค์ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบกับฉางเอ๋อกำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในสุบินนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและโปรดให้สุบินนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อที่พระองค์ได้พบเจอมา

จากนั้นมา การร่ายรำแบบนี้ก็แพร่หลายไปสู่ราษฎรและเป็นประเพณีมาตั้งแต่บัดนั้น โดยหญิงสาวชาวจีนในยุคนั้น จะนิยมสวดขอพรจากฉางเอ๋อ เพื่อให้มีความเยาว์วัยและงดงามตลอดไปดุจดั่งแม่นางฉางเอ๋อ

ตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์

วันไหว้พระจันทร์
เทพธิดาฉางเอ๋อ ส่งกระต่ายหยกไปช่วยมนุษย์

มีเรื่องเล่าขานกันว่า มีอยู่ปีหนึ่งในเมืองปักกิ่ง เกิด โรคอหิวา ระบาดหนัก เมื่อเทพธิดาฉางเอ๋อซึ่งอยู่บนดวงจันทร์ได้มองลงมาเห็น ก็ทำให้รู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมาก จึงได้ส่งกระต่ายหยกข้างกายที่ปกติตำยาอยู่บนดวงจันทร์ ให้ลงมารักษาโรคกับชาวบ้าน 

กระต่ายหยกแปลงกายเป็นหญิงสาวไปรักษาผู้คนหายจากโรค ชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งใจในความช่วยเหลือ จึงได้ตอบแทนด้วยการให้สิ่งของ แต่กระต่ายหยกก็ไม่ยอมรับสิ่งใดเลย เพียงแค่ขอยืมชุดชาวบ้านใส่เท่านั้น ไปถึงไหนก็จะเปลี่ยนชุดไปเรื่อย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากขึ้น 

หลังจากกำจัดโรคภัยให้ชาวเมืองเสร็จเรียบร้อย กระต่ายหยกก็กลับขึ้นไปยังดวงจันทร์ นับแต่นั้นมา ชาวบ้านจึงได้กราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายในวันไหว้พระจันทร์ด้วย

ประวัติ “วันไหว้พระจันทร์”

จากตำนานเล่าขานทั้ง 2 เรื่อง ที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะสังเกตได้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ นั้นมีการพูดถึงอำนาจบาทใหญ่ อย่าง “โฮวอี้” นักยิงธนูแห่งสวรรค์ ลุอำนาจจนทำให้คนเกลียดชัง จึงโดนฆ่าในที่สุด  และความเลื่อมล้ำทางชนชั้นวรรณะในสมัยนั้น ที่กษัตริย์ฮั่นเหวินตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นรับให้สั่งราษฎร (ประชาชน) ทำอะไรก็ได้ที่ตนพอใจ ถึงแม้สิ่งนั้นจะดูเข้าท่าหรือไม่ก็ตาม

ตำนานประวัติศาสตร์ ก็มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการคุกคามประชาชนแบบที่เราได้กล่าวไปตอนต้นนี้เช่นเดียวกัน เล่ากันว่าในอดีต เมื่อครั้งที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่ และถูกทำร้ายอย่างเหี้ยมโหด จากชาวมองโกล (ราชวงศ์หยวน) 

จนชาวฮั่นทนไม่ได้จึงมีการก่อกบฏขึ้น ด้วยการนำกระดาษเขียนข้อความ แล้วสอดไส้ไว้ในขนม เพื่อแอบส่งสาสน์บอกต่อ ๆ กัน โดยมีความว่า คืนนี้เมื่อเวลายาม 3 ให้ทุกบ้านจัดการสังหารทหารมองโกลให้หมด ทำให้สามารถโค่นล้มอำนาจการปกครองของมองโกลในที่สุด อันเป็นที่มาของ “ขนมไหว้พระจันทร์” นั่นเอง เพื่อเป็นการฉลอง และรำลึกการกอบกู้แผ่นดินที่ประสบความสำเร็จ เลยกลายเป็นประเพณีการรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ ในวันเทศกาลดังกล่าว และมีการสืบทอดกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

“ความเชื่อ” กับ “เทศกาลวันไหว้พระจันทร์”

Family
ครอบครัวชาวจีน หรือครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน

วันแห่งครอบครัว

“วันไหว้พระจันทร์” เกิดขึ้นในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุด และเต็มดวงที่สุด ชาวจีนจึงให้พระจันทร์ เป็นสัญลักษณ์ของความงดงาม เป็นสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน 

เมื่อคนในครอบครัวจากบ้านไปไกล เมื่อคิดถึงครอบครัวก็ให้แหงนมองดวงจันทร์ ส่งความรู้สึกที่ดีและความคิดถึงให้กันผ่านดวงจันทร์ ถือได้ว่า “วันไหว้พระจันทร์” เป็น “วันแห่งครอบครัว” 

เป็นประเพณีสำคัญของชาวจีนทั่วโลก รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน โดยที่คนในครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ชมดวงจันทร์พร้อมหน้ากัน ร่วมกินขนมไหว้พระจันทร์ พบปะ พูดคุย และใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกัน

เสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว

อีกนัยหนึ่ง เชื่อว่าการไหว้พระจันทร์ จะทำให้ร่ำรวย สุขภาพแข็งแรง และมีความสุข ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากการกู้ชาติสำเร็จนั่นเอง เพราะเมื่อกู้ชาติได้แล้วชาวฮั่นทุกคนก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น 

ทำให้ผิวสวยผุดผ่อง

และอีกนัยหนึ่ง เชื่อว่า สาว ๆ ที่ได้อาบแสงจันทร์ของคืนเดือนแปด จะทำให้ผิวสวยผุดผ่องราวกับดวงจันทร์กระจ่างในคืนเดือนเพ็ญ ทั้งนี้อาจจะสืบเนื่องมาจากตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อ ที่เป็นสาวรูปงาม ทำให้สาวชาวจีนในยุคนั้น จะนิยมสวดขอพรจากฉางเอ๋อ เพื่อให้มีความเยาว์วัยและงดงามตลอดไป

วิธี “ไหว้พระจันทร์” รับโชคตลอดปี ที่คุณต้องแชร์ต่อ!

สมัยก่อนชาวจีนโบราณจะไม่ให้ผู้ชายทำพิธี เนื่องจากเชื่อว่า ผู้ชายเป็นธาตุหยาง พระจันทร์เป็นหยิน ซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง จึงให้ผู้หญิงเป็นคนไหว้เท่านั้น แต่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ทำพิธีไหว้พระจันทร์ได้หมด แต่อาจจะมีบางบ้านมักจะให้ผู้หญิงไหว้ก่อนเป็นคนแรกอยู่บ้าง

ช่วงเวลาในการไหว้พระจันทร์

การไหว้พระจันทร์แบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ 

  • ไหว้เจ้าช่วงเช้า 
  • ไหว้บรรพบุรุษช่วงสาย 
  • ไหว้เจ้าแม่ในตอนค่ำ เมื่อเห็นพระจันทร์ปรากฏบนท้องฟ้า

สถานที่ที่เหมาะสมในการไหว้พระจันทร์

  • ลานหน้าบ้านหรือดาดฟ้า โดยมีการตั้งโต๊ะ ทำซุ้มต้นอ้อย มีธูปเทียน กระดาษเงินกระดาษทอง ที่พับเป็นเงินตราจีน โคมไฟและสิ่งของเซ่นไหว้

ขั้นตอนการไหว้พระจันทร์

1 จัดเตรียมของไหว้ ประกอบไปด้วย

  • น้ำชา หรือใบชา 4 ถ้วย

ถือเป็นเครื่องสักการะเทพเจ้าของชาวจีน

  • อาหารเจ 4 อย่าง เช่น

วุ้นเส้น เพื่อเสริมให้อายุยืน

เต้าหู้ก้อน เพื่อให้เปี่ยมยศฐาบรรดาศักดิ์

กระเทียม เพื่อให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรือง

ฟักเขียว เพื่อให้เกิดความผาสุขร่มเย็น

  • อาหารมงคล ประเภทของคาว เช่น

ปลา  เพื่อให้เกิดลาภผล มีกินมีใช้

เครื่องในหมู  เพื่อเสริมให้ท่านมีจิตใจเข้มแข็ง

กระเพาะหมู  เพื่อให้มีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์

  • ขนมหวาน 4 อย่าง เช่น 

ขนมไหว้พระจันทร์ เพื่อความรวยและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขนมถ้วยฟู เพื่อให้บังเกิดความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู

สาคู บัวลอย เพื่อให้เกิดความรักใคร่กลมเกลียว

ซาลาเปา เพื่อให้มีเงินทองมั่งคั่งเหลือกินเหลือใช้

ขนมถั่วตัดงาตัด เพื่อให้มีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์

  • ผลไม้ 4 อย่าง ควรเป็นผลไม้ที่เป็นมงคล เช่น 

ส้ม เพื่อบังเกิดมหาโชค มหามงคล

กล้วยหอม เพื่อให้ทุกการงานราบรื่น และมีชื่อเสียง

องุ่น เพื่อให้การงานการค้าก้าวหน้ารุ่งเรือง

ลําไย เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ลูกหลานรุ่งเรือง

แอปเปิ้ล เพื่อให้ในครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข

สาลี่ เพื่อให้มีเงินทองไหลมาเทมา

สับปะรด เพื่อให้มีแต่สิ่งมงคลเข้ามาหา

2 ลำดับการจัดวางเครื่องเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์

วันไหว้พระจันทร์
ขอบคุณภาพจาก horoscope.trueid.net

  • ลำดับที่ 1 สิ่งศักดิ์สิทธิ์
  • ลำดับที่ 2 น้ำชา
  • ลำดับที่ 3 กระถางธูป
  • ลำดับที่ 4 แจกันดอกไม้
  • ลำดับที่ 5 ขนมหวาน 
  • ลำดับที่ 6 ข้าวเปล่า
  • ลำดับที่ 7 อาหารเจ
  • ลำดับที่ 8 อาหารคาว
  • ลำดับที่ 9 ผลไม้
  • ลำดับที่ 10 กระดาษไหว้ต่างๆ

3 วิธีการไหว้พระจันทร์

  • เตรียมสถานที่ด้วยการนำต้นอ้อยมาทำซุ้ม ผูกให้ยอดโค้งเข้าหากัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แล้วติดโคมไฟสีแดงประดับให้เสร็จเรียบร้อยก่อนพระจันทร์ลอยสูงเกินขอบฟ้า 
  • จัดโต๊ะวางของไหว้ให้ครบถ้วนและสวยงาม
  • รอพระจันทร์ขึ้นหรือพระจันทร์เต็มดวง จึงเริ่มพิธีไหว้
  • จุดธูป 3 หรือ 5 ดอก ตามจำนวนชนิดของผลไม้ รวมถึงเทียนและโคมไฟ
  • อธิษฐานขอพรต่อพระจันทร์ในเรื่องต่าง ๆ 

บทสวดไถ่อิมแชกุงเสี่ยเก็ง “พระคัมภีร์แม่พระจันทร์”

ไถ่ อิม ผ่อ สัก เฮี่ยง ตัง ไล๊

โชย เต๊ง ตี่ เง็ก กิ๋ว เต่ง ไค

จับ บ่วง โป้ย โซย จู ผ่อ สัก

จู ฮุก ผ่อ สัก เหลียง เปียง ไป๊

จู จุง ฮุก เก่ง บ่อ ฮุ๊ง ตี่

ฉุก จุ้ย โน๊ย ฮวย หมั๋ว ตี่ ไค

ท้าว ตั่ว ฉีก จั๊ง จู ป้อ ถะ

พั๊ว ซอ สี่ ไก่ งั้ง กวง เม็ง

เจก ฮุก ป่อ ตับ ที ตี่ อึง

หยี่ ฮุกป่อ ตับ แป๋ บ้อ อึง

ต่อ แซ แป่ บ้อ เจ็ง ฮก ซิ่ว

ก่วย สี่ แป่ บ้อ จ๋า เถี่ยว แซ

นำ มอ ฮุก นำ มอ หวบ

นำ มอ ออ นี ถ่อ ฮุก

ที ล๊อ ซี๊ง ตี่ หล่อ ซี๊ง

นั๊ง หลี่ หลั่ง หลั่ง หลี่ ซิง

เจก เฉียก ใจ เอียง ฮ่วย อุ่ย ติ๊ง

อู่ หนั่ง เนี่ยม ติ๊ก ฉีก เพียง ไถ่ อิม เก็ง

แซ ซี่ ปุก ตะ ตี่ เง็ก มึ๊ง

  • เก็บโต๊ะหลังจากเทียนดอกใหญ่ดับลง หรือก่อนพระจันทร์จะเลยศีรษะไป
  • นำของไหว้มากิน โดยแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว และมีขนาดเท่ากันเพื่อความเป็นสิริมงคล แสดงถึงความกลมเกลียว ปรองดอง และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น

ขนมไหว้พระจันทร์

Mooncake
ขนมไหว้พระจันทร์

อย่างที่ได้กล่าวไปในช่วงของ ประวัติวันไหว้พระจันทร์ ว่า “ขนมไหว้พระจันทร์” ที่ใช้ส่งสารในสมัยนั้น จนนำมาซึ่งเอกราช เป็นที่มาของประเพณีการรับประทานและไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน

ขนมไหว้พระจันทร์ มีลักษณะสัณฐานทรงกลมเหมือนพระจันทร์ ลักษณะคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวด แล้วกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่าง ๆ จากนั้นนำไปอบ และเคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม มีไส้ต่าง ๆ เป็นธัญพืช เนื้อผลไม้กวน เช่น ทุเรียน, เมล็ดบัว, แมคคาเดเมีย, ถั่ว, พุทราจีน เป็นต้น

ปัจจุบันมีการทำไส้ขนมไหว้พระจันทร์ในสไตล์ประยุกต์ต่าง ๆ มากมาย เช่น กุนเชียง, ไข่เค็ม, หมูแฮม, ช็อคโกแลต, ชาเขียว, คัสตาร์ด, อัลมอนด์, เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น โดยนิยมรับประทานกันในเทศกาลนี้ โดยจะทำทานกันแค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

ทำไม “ขนมไหว้พระจันทร์” ถึงแพง?

ทั้งนี้ทางสำนักข่าวหนังสือพิมพ์เซี่ยงไฮ้ เคยเก็บสถิติไว้เมื่อปี 2019 ว่าโดยเฉลี่ย ราคาของขนมไหว้พระจันทร์จะสูงขึ้นทุกปีประมาณ 0.5 หยวน (ประมาณ 2.7-2.9 บาท) เนื่องจากวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น 

บางคนก็กล่าวว่า อาจะเป็นเพราะ มีขั้นตอนทำที่ยุ่งยาก และทำแค่ปีละ 1 ครั้ง รวมถึงการใช้แพคเกจที่ต้องสวย และดูมีคุณค่า เพื่อนำไปเป็นของฝากให้แก่ญาติผู้ใหญ่

สรุป

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีใครรู้ที่มาจริง ๆ ของเทศกาลไหว้พระจันทร์ เพราะอาจมีการเล่าขานอ้างอิงประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไปต่าง ๆ นานา แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่าการคุกคามประชาชนไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ และควรหมดไปตั้งนานแล้ว (ฝากไว้ให้คิ้ดดด)

อย่างไรก็ตาม การไหว้พระจันทร์ ก็ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยเสริมความปัง ความเฮง ความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต สำหรับใครที่ทางครอบครัวไม่ได้มีการจัดพิธีประเพณีนี้นั้น ก็สามารถหา ขนมไหว้พระจันทร์ มารับประทานกันดูได้ บอกเลยว่าอร่อยมาก ๆ แต่อร่อยน้อยกว่าผู้เขียนนิดนึง อิอิ 

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่าน โชคดีมีชัย รับโชคตลอด รวย ๆ เฮง ๆ ถูกหวยกันถ้วนหน้าจ้า

Facebook
Twitter
Email