ประเพณี “การส่อนขวัญ” ของชาวอีสานเรียบง่าย แต่แฝงด้วยภูมิปัญญา

“ตาเถร ตกใต้ถุน!!” “ขวัญเอ้ย…ขวัญมา ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว” เป็นถ้อยคำที่คุ้นเคย คุ้นหู มานานตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ๆ ปู่ย่าตายาย จะทำแบบนี้เสมอเมื่อลูกหลาน เกิดเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ ตกบ้าน ตกต้นไม้ ฯ โบราณท่านว่าเป็นการเรียกขวัญ เหมือนกันกับพิธี การส่อนขวัญ หรือซ้อนขวัญ หรือช้อนขวัญ เป็นประเพณีทางอีสานถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่งดงาม

ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำให้นักร้องสาวชื่อดังอย่าง ปาล์มมี่ ยังต้องหยิบยกมาแต่งเป็นเพลงกันเลยทีเดียว โดย ปาล์มมี่ ได้บอกไว้ว่า “ตั้งใจแต่งออกมาในช่วงที่หลายคนกำลังตกอยู่ในภาวะที่บ้านเมืองยังไม่เข้าท่าเข้าทาง ความลำบากก็กระจายไปหมดทุกพื้นที่ เพื่อเป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้กลับมาหาตัวเองทุกคนจะได้มีความสุขเหมือเดิม”

ทำไมต้องทำพิธี การส่อนขวัญ

เป็นประเพณีความเชื่อของคนทางภาคอีสาน เมื่อมีผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ เช่น ตกต้นไม้ ตกรถ โดนวัวควายชน ตกบ่อน้ำ เป็นต้น จะทำให้ขวัญออกจากตัวคนเหล่านั้นไปจะทำให้เจ็บป่วยและหายช้า ตกใจง่าย กินไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ คนทางภาคอีสานจึงนิยมที่จะจัดทำพิธีเรียกขวัญของคนป่วย ที่เรียกว่า “พีธีส่อนขวัญ”

คำว่า “ส่อน” ทางภาคอีสานจะหมายถึง การนำเอาสวิงหรือผ้า ช้อนไปช้อนมาเพื่อความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ส่อนหาปลาเมื่อได้ปลาแล้วก็ใช้มือกำสวิงจากด้านนอกช่วงมีปลาอยู่ เพื่อกันปลากระโดดออก สำหรับการส่อนขวัญก็เช่นเดียวกัน จะนำเอาสวิง มาส่อนไปส่อนมาพร้อมกับเอิ้นเรียกชื่อของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ

บุคคลผู้ไปประกอบพิธีก็จะโยนสิ่งของที่เตรียมไว้ เช่น ไข่ไก่ต้ม ปั้นข้าวเหนียว ด้ายผูกแขน เข้าใส่สวิง ถือว่าได้ขวัญของคนป่วยมาแล้ว ต่อมาญาติพี่น้องและชาวบ้านก็จะทำการผูกแขน พร้อมอวยพรให้คนป่วยดีวันดีคืนหายป่วยหายตกใจ อยู่เย็นเป็นสุข

คำว่า “ขวัญ” ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ แปลว่า น.มิ่งมงคล,สิริ,ความดี,เช่นขวัญข้าว ขวัญเรือน และ น.สิ่งที่ไม่มีตัวตน นิยมกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็น สิริมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคง

สิ่งของสำหรับทำพิธี การส่อนขวัญ

  1. ขันธ์ 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่)
  2. ไข่ไก่ต้มสุก 1 ฟอง
  3. ข้าวเหนียวสุก 1 ปั้น(ประมาณเท่าไข่ไก่)
  4. หมากพลู บุหรี่
  5. ข้าวต้ม
  6. ของหวาน
  7. ฝ้ายใช้สำหรับผูกแขน
  8. เสื้อผ้าของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ 1 ชุด

ขั้นตอนทำพิธี การส่อนขวัญ

ในการทำพิธีส่อนขวัญนั้นจะมีการทำหลายขั้นตอนด้วยกัน พิธีหลักจะมีทำอยู่ 2 ที่ คือ พิธีนอกบ้าน(บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ) และพิธีที่บ้าน โดยจะเริ่มทำพิธีนอกบ้านก่อน ดังนี้

พิธี การส่อนขวัญ นอกบ้าน

เมื่อเตรียมของสำหรับทำในพิธีครบแล้ว นำสิ่งของทั้งหมดใส่ลงไปในสวิง จากนั้นให้ญาติผู้ใหญ่ของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุคนใดคนหนึ่งนำสวิงที่ใส่ของเรียบร้อยแล้วไปยังบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ แล้วกล่าวดังนี้

“เจ้าแม่ธรณีเจ้าที่เจ้าทางแห่งนี้เอย วันนี้เวลา…(นาย/นาง/เด็กชาย/เด็กหญิง)…ได้มาประสบอุบัติเหตุ ณ ที่แห่งนี้ขณะนี้ยังเจ็บป่วยอยู่จึงได้มาส่อนเอาขวัญของ…ที่ยังตกค้างอยู่ ณ ที่แห่งนี้กลับคืนไปอยู่กับเนื้อกับตัวของเขา”

แล้วก็ใช้มือสองมือจับสวิงตักไปมาพร้อมกับพูดว่า “ขอให้ผู้ป่วยจงหายเจ็บป่วยโดยเร็ว การใดที่ผู้ป่วยล่วงเกิน พระแม่ธรณี และเจ้าที่เจ้าทางก็ขออโหสิกรรมด้วย” ในขณะทำการช้อนครั้งแรกผู้ช้อนจะพูดว่า ” มาเด้อขวัญเอ้ย “ ช้อนครั้งที่สองจะพูดว่า ” มาเด้อขวัญเอ้ย “ เช่นกัน

พอมาถึงครั้งที่สาม คนที่ล้อมจะพูดว่า ” เข้าหรือยัง “ คนช้อนก็จะตอบว่า ” เข้าแล้ว “ จากนั้นก็จะมีคนมารวบสวิงแล้วนำผ้ามาคลุมแล้วนำกลับบ้านของผู้ป่วย (ห้ามแวะที่อื่น) ในขณะนี้บรรดาญาติของผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งรออยู่บ้านผู้ป่วยเพื่อรับขวัญ

พิธีการส่อนขวัญ ที่บ้าน

หลังจากที่ทำพิธีนอกบ้านแล้ว ญาติผู้ใหญ่ที่ทำพิธีนำสวิงมาแตะที่ตัวผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ จากนั้นผู้ที่ไปส่อนขวัญและญาติ ๆ กล่าวขึ้นพร้อมกันว่า “เออ…ขวัญเจ้าได้คืนมาอยู่กับเนื้อกับตัวเจ้าแล้ว ขวัญเอยมาเด้อ…ขอให้หายป่วยหายเคราะห์โดยเร็ว ” ให้หยิบเอาเสื้อผ้าในสวิงมาสวมใส่เลย แต่ถ้าป่วยหนักใส่ไม่ได้ก็ให้วางข้าง ๆ

จากนั้นให้นำข้าวเหนียว ไข่ต้ม ขนม และข้าวต้ม ใส่มือผู้ป่วย พร้อมทำพิธีผูกแขนเรียกขวัญผู้ป่วย โดยจะอวยพรให้ผู้ป่วยหายโดยเร็ววัน และประสบแต่สิ่งดี ๆ เริ่มจากญาติผู้ใหญ่ที่นำสวิงไปช้อนขวัญก่อน จากนั้นญาติ ๆ ทยอยผูกข้อมือจนครบทุกคน เป็นอันเสร็จพิธี

คำสูตรผูกแขนเส้นที่ 1

ศรีๆ ชัยยะวิเศษ ฝ้ายแก้เกิดเมืองสวรรค์ ปันกันมาทุกแห่ง อิ้วแล้วดีดแต่งเป็นผงเป็นใยยาวยวงแลนอ่อนค่าบ่ผ่อนใสแสง ฝ้ายนี้เป็นของแพงอันประเสริฐ บัดนี้ข่อยจักผูกแขนซ้ายให้เจ้าได้กินหมื่นนา บัดนี้ข่อยจักผูกแขนขวาให้เจ้าได้หมื่นบ้าน ก้อนคำล้านให้เจ้าค่อยอยู่ดีเยอ ขวัญหัวเอ๋ย เจ้าอย่าได้ไปอยู่ในดิน และหย่อมหญ้า

ขวัญเจ้าเอ๋ย เจ้าอย่าได้ไปอยู่ฝากอะกะนิฏฐา ให้เจ้ามาอยู่เฮือนดอมเจ้า ฮ้อยขวบเข้าอย่าได้หนี ให้เจ้านอนหลับดี อยู่ในฮ่องประเทศเฮือนตน สมบัติมีมวลมีทั้งแหวนคำอันสุบก้อย เครื่องน้อยสร้อยสังวาล สัพประการปิ่นเกล้า ให้เจ้าได้อยู่สร้างแทนเฮือน ให้เจ้าหมั่นยิ่งกว่าก้อนผาแฮ่น

ให้เจ้าหมั่นยิ่งกว่าแก่นผาจวง ให้เจ้าหมั่นยิ่งกว่าเขาไกลลาด ให้เจ้าหมั้นยิ่งกว่าราหุลราชเข้าสุญตะวันให้เจ้าหมั่นกว่าสวรรค์ฟากฟ้า ให้เจ้าหน้าฮุ่งเฮืองงาม ให้คิ้วเจ้าแดง เหมือนดังกองแก้วมณีโชติ โทษฮ้ายอย่ามาพาล มารฮ้ายอย่ามาเบียด อย่าแฝดฮ้าย อย่าเข้าในเนื้อในคีงเจ้าเด้อ

คำเบิกเคราะห์คนป่วย

มีผีฮ้าย กวดหนี เสียมื่อนี้วันนี้ ขึ้นโคกต้องผีโป่งลงถ่งต้องผีคุณกวดหนี เสียมื่อนี้วันนี้ เคราะห์มื่อเย็นเข็ญมื่อเช้าก็หนีมื่อนี้วันนี้ เข็ญหลวงหนีพอฮ้อย เข็ญน้อยหนีพอพันก็ให้หนีวันนี้ เคราะห์ปีผีป้อน เคราะห์วันผีแต่ง ไม้สะรกงกมันฮู้ต้องแขง ไม้สะแหล่งแหงงมันฮู้ต้องตีน

มือไม่กลืนกือ มันฮู้ปักตูมค้อง ไม่สล้องคล้องมันฮู้เกาะปายตีน ก็ให้หนีมื้อนี้วันนี้ เคราะห์ตัวน้อยๆเคราะห์ตัวฮีๆ เคราะห์เป็นเข็นตัวท่อแม่ไก่ เคราะห์ตัวใหญ่ ๆ โตท่อแม่ควาย เคราะห์หลาย ๆ ตัวท่อหอยปัง ก็ให้หนีเสียมื้อนี้วันนี้ เคราะห์จังงังแม่กำเลิศ ก็ให้หนีไปเกิงก้ำฝ่ายปายตีนลี้ผี หนีมื้อตะวันตกนกเจานอนดอนสาวอยฤหมู่สาวหลาย ก็ให้สู่หนีไปตายบ้านเกิด ไปเกิดก้ำฝ่ายไต้เมืองห่อจินจาบพู้นเยอ…

หนีตะวันตกนกน้อยนอน ภูเขาข้ามน้ำเขาเขียว ผีเหลียวมาให้ตาผีแตก ไม้ค้อนเท่าพยาอินทร์กูสิแดกตาผีตาย อมสิทธิการ อาจาย พ่อหมดสิทธิให้แล้วนี้ กูจักเบิกช้างตัวฟัง กูจักเบิกวันนี้ คนชังข้าเชิกเต้ากูจักเบิกวันนี้ กูจักเบิกหมาดำหมาแดง แห้งกินเลื้อด กูจักเบิกวันนี้ กูจักเบิกบักสามฆ่าคนน้อย กูจักเบิกบักพอกพ้อยใส่ครูหนังสิว กูจักเบิกวันนี้ กูจักเบิกน้ำขังอยู่ในท้อง กูจักเบิดธระธีสาร กูจักเบิกซะวายไปหลวงโดยละงับภัยระงับจังไรระวับ สะหายยะ,

คำผูกแขน

มาเด้อขวัญเอ่ย…….ให้เจ้ามาอยู่หมั่นเหมือนดังภูเขา ให้เจ้ายืนคือหินหมื่นกือกองล้น ให้เจ้าเย็นคือน้ำอันมาสระใหญ่พ่อเด้อ…..ให้มันไหลอยู่เลื่อย ๆ กระแสน้ำเวิ้งวัง ธาตุสี่ตั้งเที่ยงในขัน ปัฎฐวีเตโชให้เที่ยวชั้นขันธ์ห้าวาโยต้องเย็นคิงอยู่เนื่อง ๆ ให้ไหลอยู่เลื่อย ๆ คิงเจ้านั้นให้อยู่เย็นพ่อเด้อ…….

นอนหลับให้เจ้าได้เงินพัน นอนฝันให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แบมือไปให้เจ้าได้แก้วมะณีโชติ โทษฮ้ายอย่ามาพาน มารฮ้ายอย่ามาผ่าให้เจ้าสุขขีล้นยืนหมั่นหมื่นปี เด้อ…….

คำผูกแขนหลาน

หลายอ่อนน้อยหน่วยนาดชายเดียว เจ้าอย่าเนาไพรเขียวป่าไพรแกมเนื้อ เจ้าอย่าเอื้อในไพรกลางป่าขวัญอ่อนหล่านางน้อยให้อยู่เฮือน มีเทิ่งอาหารล้นเต็มพาเหลือมาก มีทั้งเหมี่ยกหมากพร้อมเต็มเต้าอยู่ซู่ขัน มีทั้งพวงขันก้ำเดียระดาษ มีทั้งฉิมหาราชเจ้าสิมาไว้ถ่าผูกแขน

มีหลายประเภทเจ้าสิมาเข่าเพิ่งใฮ่ขอให้เจ้าได้ผาบแพรฝูงหมู่องค์มาร สมภารมีเกิ่งสวรรค์อยู่เทิ้งฟ้า ขอให้เจ้ามีฤทธิที่กล้าคือพระจันทร์เพ็ญมือสิบห้าค่ำ ขอให้เพิ่นล้ำได้ใสเหลื่อมดังพระจันทร์ พอว่าแล้วพ่อซิผูกแขนหลาน แหวนทำมะโรงสิใส่มือสวมกล้อย สอยวอยหน้าชายงามขึ้นไหม่พ่อแจมเจ้าซิค่อยถ้าผูกแขนเจ้าแหล่ว,

คำผูกแขนเอิ้นขวัญ คำที่ 1

มาเยอขวัญเอ๋ย…มาอยู่คิงในเนื้อขวัญแพรและขวัญเสื้อหมดเครือฮอดสิ่น ขวัญที่นอนบอนมุ่งให้มาพร้อมพร่ำเชิญ ขวัญนางเดินนางย้ายหมดกายขู่ซู่ฝ่าย ขวัญนางย้ายยางข้ามเขากว้างให้ล่วงมา ขวัญขาและขวัญเท้าหมดเลาฮอดน้องแข่ง ขวัญทุกแห่งใหลพร้อมล้มต้องแต่ห้องหลัง

ขวัญดังและขวัญหน้าขวัญตาและขวัญปาก ขวัญเจ้าพัดพรากเข่าเขากว้างให้ล่วงมา ขวัญเจ้าชลทาให้ในเขาหาลูกอ่อน ขวัญเจ้าล้มพาดก้อนหินล้านแผ่นทะลาน ขวัญเจ้าลงไปเล่นภายสารแกมหมู่ข่าง

ขวัญเจ้าย้ายหมู่ช้างสือฮ้ายอยู่ว่างดอย ขวัญเจ้าไปหาหม่นขุดกอยมันอยู่ในเหล่า ขวัญเจ้าย้านนกค้าหลงถิ่มกระตามัน ขวัญเจ้าเดินผัดฝ่ายไปมาดอกอิดอ่อน ขวัญเจ้านอนอยู่ค้างกลางด้าวให้ต่าวมา มาเด้อ………….เอ่ย………มาเด้อขวัญ………เอ่ย,

คำผูกแขนเอิ้นขวัญ คำที่ 2

มาเยอขวัญเอ๋ย………….ขวัญเจ้าอย่าได้ไปอยู่ชั้นในป่าดงฮก ขวัญเจ้าอย่าได้เดินไกลป่าไพรกว้าง ขวัญเจ้าได้ไปหลงง้วงเทิ่งภูให้เจ้ารู่มาเด้อ เชิญเอาขวัญนาถน้องให้วนค้อยต่าวมา ขวัญเจ้าอย่าได้ไปอยู่ค้างกลางเหล่าแกมหมู่กา

ขวัญเจ้าอย่าได้ไปอยู่ค้างกลางนาแกมหมู่เขียดให้คนมาบียดเจ้าองค์ล้ำหนอพยา เพิ่นได้แต่งคบถ่ามีอยูหลายประการ มีหมู่เงินคำแก้วมีหลายแนวครองถ้า อาพรผืนแพ่นมีทั้งแหวนใส่กล้อยกระจอนต้างโค่งคำ

เชิญจ้ามาส่วมสร้อยสังวารคล้องใส่ มีทั้งผ้าสะใบแผ่นผืนแพรพร้อม..คู่สู่แนว…….มาเด้อ………………..เอ่ย,

สรุป

ประเพณีการส่อนขวัญเป็นประเพณีความเชื่อที่แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านภาคอีสาน ทำขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่ป่วย ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ขวัญออกจากตัวให้ตกใจ ผวา ทำให้ขวัญหนี หรือเมื่อหายป่วยแล้วจะมีอาการซึมเซา ไม่สดชื่นแจ่มใส เหมือนคนปกติ

จึงได้มีพิธีการส่อนขวัญเพื่อให้ผู้ประสบอุบัติเหตุมีสภาพจิตใจดีขึ้น ให้เป็นปกติ หายตกใจ หายป่วยดีวันดีคืน ซึ่งเชื่อกันว่าหากไม่ได้ทำพิธีแม้ทางร่างกายจะปกติดีขึ้น แต่อาการทางจิตใจของผู้ป่วยจะทรุดหนักลงกว่าเดิม ความเชื่อและประเพณีที่เรียบง่ายแต่แฝงด้วยสิ่งดี ๆ ยังมีอีกมาก สามารถติดตามได้ที่ Ruay365 ได้ทุกวันนะคะ

Facebook
Twitter
Email